ใน ช่วงเดือนแรกเจ้าตัวน้อยจะทำได้แค่เพียงร้องดิ้นหรือบิดไปมาเท่านั้นพอครบ สามเดือนลูกน้อยก็จะเริ่มชันคอผงกศีรษะหันไปมาถีบเท้าและเล่นกับนิ้วมือตน เองได้พอเข้าเดือนที่สี่เจ้าตัวน้อยจะใช้มือยกหน้าอกให้พ้นพื้นและใช้เท้า ยันยกก้นขึ้นแต่ก็ยังไม่สามารถทำพร้อมๆ กันได้ดังนั้นลูกน้อยก็จะหมุนตัวออกไปทางด้านข้างแทนซึ่งก็คือ การพลิกตัว ยังไงล่ะค่ะ
เมื่อเจ้าตัวน้อยได้ฝึกพลิกคว่ำพลิกหงายจนคล่องแล้ว จากนั้นพัฒนาการอีกขั้นที่ตามมาก็คือ การคืบ ลูกน้อยจะใช้มือยันพร้อมกับใช้เท้าถีบไปพร้อมๆ กัน และหลังจากนั้นไม่นานค่ะ ลูกน้อยก็เรียนรู้ที่จะคลานโดยการยกท้องขึ้นและเดินด้วยแขน ขาของตนเอง พอเข้าเดือนที่แปด พัฒนาการของเจ้าตัวน้อยของเรานอกจากจะนั่งเองได้แล้ว ยังสามารถคลานไปไหนมาไหนได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวมากขึ้น และลูกก็จะใช้วิธีการคลานไปไหนมาไหนไปอีกสักพัก จนกว่าลูกจะหาวิธีเหนี่ยวตัวกับสิ่งของ เฟอร์นิเจอร์ หรือร่างกายของคุณพ่อคุณแม่นี่แหละลุกขึ้นยืนอย่างไม่มั่นคงก่อนในตอนแรก แล้วลูกน้อยก็จะค่อยๆ ลุกยืนขึ้นเองได้ในที่สุด และสิ่งที่ติดตามต่อมาก็คือ การเดินก้าวแรกของลูกน้อยนั่นเอง ซึ่งช่วงเวลานั้นเจ้าตัวน้อยก็จะมีอายุครบหนึ่งขวบปีพอดี แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรกังวลมากจนเกินไป หากลูกจะเดินได้ช้ากว่าหรือเร็วกว่านี้ เพราะเด็กแต่ละคนก็มีพัฒนาการที่แตกต่างกันไป ซึ่งอาจช้ากว่าหรือเร็วกว่าก็ได้ เป็นเรื่องธรรมดาค่ะ
ปล่อยให้หนูเดินเท่าเปล่าบ้างก็ดีนะ
การ เดินเท้าเปล่าสำหรับเจ้าตัวน้อยบางครั้งก็เป็นเรื่องดีค่ะ เพราะจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านประสาทสัมผัส ช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างของพื้นผิว ที่มีทั้งความหยาบ แข็ง และนิ่ม ลองปล่อยให้ลูกเดินเท้าเปล่าบนพื้นหญ้า พื้นทราย พื้นน้ำตื้นๆ เพื่อให้ลูกได้สัมผัสถึงพื้นผิวที่แตกต่างกัน แต่ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ควรคำนึงถึงความปลอดภัยในด้านต่างๆ ดังนี้ด้วย
- แน่ใจว่าบริเวณนั้นจะไม่มีของมีคม หรือเป็นอันตรายต่อลูก
- ไม่ให้ลูกถอดรองเท้าเดินในบริเวณที่เป็นสาธารณะ ผู้คนพลุกพล่าน และคุณไม่มั่นใจว่าลูกจะปลอดภัย
- ลูกได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักครบตามเกณฑ์
- เด็กหรือผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวาน ไม่ควรเดินเท้าเปล่าไม่ว่าจะในหรือนอกบ้าน เพราะพวกเขาจะไม่รู้สึกเมื่อเท้าได้รับบาดเจ็บ
- หากว่าเท้าได้รับบาดเจ็บ เช่น กระแทกกับของแข็งอย่างรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง
เรียบเรียงโดย : นิตยสารบันทึกคุณแม่