ภาษาไทย
English


การนอนของเด็กทารกวัย 0-1 ปี
 

  • การนอนของทารกแรกเกิด 3 เดือน
  • การนอนของทารกอายุ 4-6 เดือน
  • การนอนของทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป
  • ปัญหาการนอนของทารก
  • สิ่งแวดล้อมและเครื่องนอนของทารก
  • การกล่อมลูก
  • เพลงกล่อมลูก

       การนอนเป็นวิถีชีวิต 1 ใน 3 ของชีวิตประจำวันลูกซึ่งคุณจะต้องให้ความสำคัญมากๆ เพราะเป็นปัจจัยหลักในการร่วมสร้างพัฒนาการให้ลูกน้อยสมบูรณ์แข็งแรง


การนอนของทารกแรกเกิด 3 เดือน

       เด็กทารกวัยแรกเกิดช่วงคออ่อนไหว ชันคอได้ไม่ดีนัก ท่านอนที่เหมาะสม ควรจัดให้ลูกนอนหงายหรือนอนตะแคง เพื่อให้ลูกสามารถมองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ง่ายขึ้น เนื่องจากกล้ามเนื้อคอของลูกยังไม่แข็งแรง การเคลื่อนไหวของคอจึงเป็นลักษณะหันไปมาซ้าย-ขวา ดังนั้นการให้ลูกนอนหงายหรือนอนตะแคงจึงเป็นท่านอนที่เหมาะสมมากที่สุด ไม่ควรให้ลูกนอนคว่ำโดยที่ไม่มีคนดูแลใกล้ชิด เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายที่เรียกว่า ภาวะ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) ที่อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้

       นอกจากนี้จากการศึกษายังพบว่าเด็กที่ถูกจับให้นอนคว่ำจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้น้อยกว่า และเมื่อโตขึ้นจะมีความช่างสังเกตน้อยกว่าเด็กที่นอนหงาย ส่วนสิ่งแวดล้อมที่ควรจัดให้ลูกในช่วงนี้ควรเป็นภาพหรือของเล่นที่มีสีสันสด ใสและมีเสียง อาจเคลื่อนไหวในแนวนอนหรือแนวราบก็ได้

 

การนอนของทารกอายุ 4-6 เดือน

       กล้ามเนื้อคอแข็งแรงขึ้น ชันคอ ยกศีรษะ และหันหน้าไปมาได้ดีขึ้น ท่านอนที่เหมาะสมคือ ท่านอนคว่ำ ลูกจะชอบยกศีรษะขึ้นมองสิ่งของที่อยู่ตรงหน้า และก้มหน้าลงมองภาพหรือของเล่นที่อยู่บนพื้น ดังนั้นสิ่งแวดล้อมที่ควรจัดให้ลูกในช่วงวัยนี้ จึงควรเป็นผ้าปูที่นอนที่มีสีสันสดใส แต่ข้อควรระวังของท่านอนคว่ำต้องมีคนดูแลใกล้ชิด และลักษณะที่นอน หมอนต้องไม่นุ่มนิ่มจนมีปัญหาการอุดกั้นทางเดินหายใจได้

 

การนอนของทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป

       ลูกสามารถเคลื่อนไหวศีรษะ คอ ไหล่ แขน ขา และหลังส่วนบนได้ดี พลิกตัวไปมาจนได้ท่านอนที่เหมาะสม ลูกอาจจะนอนหงาย กึ่งนั่งกึ่งนอน นอนตะแคง หรือนอนคว่ำ สิ่งแวดล้อมที่ควรจัดให้ลูกเรียนรู้ควรเป็นของเล่นที่เคลื่อนไหวในแนว 360 องศา เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ในทุกมุมมอง

 

ปัญหาการนอนของทารก

  • นอนละเมอ - บางครั้งลูกอาจจะนอนละเมอ ขยับตัวไขว่คว้า หรือส่งเสียงระหว่างที่หลับ แต่ไม่ได้ตื่นขึ้นมา หากไม่บ่อยมากหรือละเมอจนตื่น เราถือว่าลูกยังหลับสนิทอยู่ไม่ต้องปลุก เพียงแต่ว่าถ้าเป็นบ่อยอาจต้องหาสาเหตุว่าเพราะอะไร
  • นอนลืมตา - เวลานอนเปลือกตาลูกจะปิดไม่สนิท แต่ไม่มีผลเสียอะไรต่อเด็ก
  • นอนผวา – เด็กแรกเกิดจะนอนผวาได้โดยระบบประสาทอัตโนมัติ ถ้ามีอะไรมากระตุ้นลูกก็จะผวาหรือขยับตัวนิดหน่อยได้ ถ้าลูกผวามากอาจจะให้ลูกนอนคว่ำ
  • นอนกรน – เราไม่ค่อยพบว่าเด็กทารกนอนกรน แต่ได้ยินเสียงเสียงครืดๆ ของทารกยามหลับสนิท แสดงว่ามีอะไรผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ ให้พบแพทย์ดีที่สุด
  • นอนดึก – พอถึงวัยประมาณใกล้ขวบแรก ลูกจะเริ่มกลัวการพลัดพรากจากคุณพ่อคุณแม่ หรือเริ่มโตติดเล่น อยากอยู่เล่นกับคุณพ่อคุณแม่จนดึกดื่น คุณพ่อคุณแม่ควรจะค่อยๆ ฝึกนิสัยในการนอนของลูกเพื่อให้มีวินัยไปจนโต


สิ่งแวดล้อมและเครื่องนอนของทารก

       สิ่งแวดล้อมของการนอนของลูกน้อยมีความสำคัญมาก เพราะเกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยอีกทั้งมุ่งหวังให้ลูกนอนหลับสนิทอย่างต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เพื่อฮอร์โมนแห่งการเจริญเติบโตหรือ Growth Hormone ได้หลั่งออกมาอย่างเต็มที่

  • สภาพแวดล้อมของการนอนจะต้องเงียบสงบ และไม่มีแสงแยงเข้าตาระหว่างการนอน ควรลดไฟให้สลัวให้เอื้อต่อการนอนด้วย
  • ห้องสีขาว สีฟ้า สีเทา สีครีม จะทำให้เด็กรู้สึกสงบและหลับง่ายกว่าห้องสีสดๆ
  • เบาะที่นอนที่ทำด้วยใยสังเคราะห์ดีกว่าอัดด้วยนุ่น เพราะจะมีมาตรฐานการอัดแน่นทำให้ไม่เป็นหลุมหรือยุบตัวลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นนุ่นจะไม่เหมาะที่สุด เพราะเป็นตัวกระตุ้นภูมิแพ้
  • เบาะที่นอนจะต้องมีขนาดต้องใหญ่พอสมควร เนื่องจากลูกน้อยโตเร็ว หากไม่ซื้อเผื่อก็อาจจะทำให้สิ้นเปลืองซื้อเปลี่ยนหลายๆ หน ที่สำคัญต้องวัดขนาดเปลให้พอดีกับเปลที่ใช้อยู่ด้วย
  • ทดสอบการซื้อว่าที่นอนมีการคืนตัวมากเพียงพอไหม อย่างเช่น กดแล้วคืนตัว เพราะว่าหากลูกนอนคว่ำอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้
  • เลือกผ้าปูที่สามารถถอดซักได้ และเป็นผ้าปูที่ระบายอากาศได้ดี อาทิ ผ้าฝ้าย ไม่ร้อนหรืออับซึ่งอาจจะส่งผลให้ลูกนอนไม่สบายตัวได้
  • เลือกสีเบาะที่นอนและผ้าปูที่สีสันอ่อนโยนสบายตา เพื่อสุนทรียภาพในการนอน


การกล่อมลูก

       วิธีสร้างนิสัยการนอนที่ดีและเทคนิคการกล่อมนอนช่วยให้ลูกหลับง่ายได้จริงๆ

  • ส่งเสริมกิจกรรมระหว่างวันเมื่อลูกตื่นให้พูดคุยร้องเพลง หรือเล่นกับลูกในสิ่งแวดล้อมที่มีแสงสว่างและเสียงปกติ
  • เข้านอนเวลาเดิมหากิจกรรมและสร้างบรรยากาศในห้องให้ผ่อนคลาย เช่น ร้องเพลง อ่านนิทาน เปิดไฟสลัว คุยด้วยเสียงเบา สงบ ไม่เล่นเพื่อให้ลูกรู้ว่าเวลานอนไม่ใช่เวลาเล่น
  • อุ้มลูกวางบนเตียงขณะง่วงและตื่นอยู่ เพื่อให้เด็กเชื่อมโยงความสัมพันธ์การนอนและเตียงนอนด้วยประโยคเดิมๆ ซ้ำๆ ด้วยน้ำเสียงอ่อนหวานเช่น “นอนซะนะลูก” แล้วค่อยเดินออกจากห้อง
  • เวลากลางคืนการดูแลควรใช้ความนุ่มนวล ถ้ารู้สึกว่าลูกโมโห โกรธ หรือร้องไห้นานอาจจะหอมแก้ม ลูบหัวเบาๆ ปลอบโยน เพื่อให้เขารู้สึกอบอุ่นจากนั้นค่อยออกจากห้อง แต่ถ้าได้ยินเสียงร้องก็ค่อยกลับมาหอมแก้มใหม่ทำอย่างนี้หลายรอบหน่อย จนกว่าเด็กจะเมื่อยล้าและหลับไปเอง
  • ให้ลูกกอดตุ๊กตา เพราะการกอดจะช่วยให้เด็กรู้สึกอบอุ่นและวางใจ แต่อาจจะติดตุ๊กตาได้ ดังนั้นหลังที่ลูกหลับสนิทแล้ว คุณแม่ควรดึงตุ๊กตาเปลี่ยนให้กอดหมอนข้างจะดีกว่า
  • ปล่อยให้ร้องไห้และออกมาจากห้อง วิธีคือเมื่อแม่ส่งลูกเข้านอนแล้วให้รีบออกจากห้องและกลับมาอีกครั้งภายใน 30 นาทีเพื่อปลอบเขาแล้วออกมาจากห้องอีกครั้ง ถ้าลูกยังร้องอยู่ให้รออีก 5 นาทีแล้วค่อยเข้าไปปลอบใหม่ พยายามทำอย่างนี้ทุกวันและเพิ่มเวลาการเข้ามาปลอบจาก5 นาทีเป็น10 นาที จะสังเกตว่าลูกจะเหนื่อย และหลับได้เองในที่สุด
  • วิธีนี้อาจยากสักหน่อยเพราะบางคนอาจร้องไห้นาน พ่อแม่คงต้องทำใจทนฟังเสียงร้องไห้ แนะนำให้ใช้นาฬิกาจับเวลา หากลูกไม่ร้องแต่ยังไม่ยอมนอนก็ไม่ควรเข้าไปหา แล้วขณะที่นั่งรอลูกหลับพยายามอย่าสนใจกับเสียงร้องกวนหรือเฝ้าสังเกตลูกมากเกินไปให้ทำเป็นไม่สนใจ เพื่อปล่อยให้ลูกหลับโดยธรรมชาติ วันต่อมาก็ค่อยๆ เพิ่มระยะห่างที่นั่งเฝ้าออกไปทุกๆ วัน จนในที่สุดแค่เพียงมาส่งลูกเข้านอนที่ห้องเท่านั้น
  • สำหรับการไกว เปลที่ไม่รุนแรงจะไม่มีผลต่อพัฒนาการทางสมอง แต่เปลอาจมีข้อเสียบางอย่าง เช่นเปลผ้าเด็กนอนแล้วหลังงอและเด็กจะไม่สามารถนอนคว่ำได้อาจทำให้หายใจไม่ออก และสำหรับเปลลูกกรงมีข้อเสียคือ ระยะจุดหมุนของเปลถึงก้นเปลสั้นเกินไป รัศมีการไกวแคบ เวลาไกวเปลเด็กจะถูกเหวี่ยงไปมา จะทำให้เด็กรู้สึกเวียนศีรษะ มีอาการโยนไปมาและทำให้เด็กเอียงไปติดข้างเปล โยนไปโยนมา ทำให้โยเย ไม่ยอมนอน เปลประเภทนี้เหมาะกับเด็กตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไปซึ่งแพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กเล็ก

 

เพลงกล่อมลูก

       มนุษย์ ทุกชาติ ทุกภาษาและวัฒนธรรมล้วนแต่มีเพลงพื้นเมืองหรือเพลงประจำถิ่น เอาไว้ร้องเล่นเป็นส่วนหนึ่งในทุกๆกิจกรรมของชีวิต เพลงกล่อมลูกก็เป็นหนึ่งในจำนวนบทเพลงเหล่านั้นเช่นกัน ถือเป็นบทเพลงที่เก่าแก่ มีอายุยาวนานมากที่สุด นับตั้งแต่ที่มนุษย์ยังไม่มีภาษาพูด และยังไม่รู้จักการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเริ่มจากการเห่กล่อมด้วยกิริยาท่าทาง การโอบอุ้ม-โอบกอดลูกอย่างรักใคร่ทะนุถนอม และออกเสียงอือๆ ออๆ ในลำคอไปด้วย จากนั้นจึงค่อยๆพัฒนาเป็นเสียงสูงเสียงต่ำคล้ายเสียงดนตรี และในที่สุด เมื่อมีภาษาพูด เพลงกล่อมลูกแบบง่ายๆก็เกิดขึ้นตามภาษาพูดของแต่ละชนชาติต่างกันไป

       นอกจากนั้นเพลงกล่อมลูก ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของการได้ยินให้กับทารกในครรภ์ เพราะเสียงเพลงจากแม่สามารถถ่ายทอดไปยังลูกได้โดยตรงตั้งแต่เด็กยังอยู่ใน ท้องแม่ ความสูงต่ำของทำนองเพลงจะกระตุ้นให้เซลล์สมองที่ทำหน้าที่รับเสียงในแต่ละ ย่านความถี่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทำให้เด็กมีความสามารถในการแยกแยะความสูงต่ำของเสียงได้ นี่คือรากฐานของพัฒนาการด้านภาษานั่นเอง

จาก : Momypedia
Tag : การนอน เด็กนอน ทารกนอน การนอนของทารก


 
ขอขอบคุณภาพประกอบและบทความ : momypedia

Week 1-3 : สัปดาห์ที่ 1-3 ของการตั้งครรภ์
เซลล์ไข่เริ่มกลายเป็นตัวอ่อนและเจ...
2013-04-05

10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน
10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน (จากปากเรา)...
2013-06-10

การอาบน้ำเด็กทารกอย่างถูกวิธี
วันนี้เราเลยมีวิธีที่จะทำให้เด็กส...
2013-05-21

พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และของเล่นที่เหมาะสม
พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และข...
2013-07-02

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจขณะตั้งครรภ์
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ...
2013-04-25

Week 5 : สัปดาห์ที่ 5 ของการตั้งครรภ์
สัปดาห์นี้ ควรฝากครรภ์ได้แล้วนะ...
2013-03-29

9 วิธีเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์
คุณแม่ที่กำลังอยากจะมาบุตรต้องทำอ...
2013-06-28

การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ควรมองข้าม
การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่...
2013-04-05

น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง
น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง...
2013-04-29

Week 13 : สัปดาห์ที่ 13 ของการตั้งครรภ์
เต้านมของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น, ...
2013-03-29