ภาษาไทย
English

6 อาการแปลก ระหว่างตั้งครรภ์
 

         ในระหว่างตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเกิดอาการอะไรขึ้นกับร่างกาย คุณแม่มักเป็นกังวลและรู้สึกผิดปกติเป็นพิเศษ ทั้งที่ๆ บางอาการอาจเป็นอาการปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์โดยทั่วไปลองมาดูกันสิคะว่า อาการแบบไหนที่มักจะเกิดขึ้นกับคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์


1 เจ็บกระดูกซี่โครงใต้อก

         อาการเจ็บแปลบบริเวณใต้อก บางคนปวดแค่พอให้หงุดหงิดใจ เหมือนมีอะไรมาตำ ๆ บริเวณใต้อกด้านใดด้านหนึ่ง แต่บางคนอาจจะปวดจนรู้สึกทรมาน การเจ็บใต้อกเกิดจากมดลูกขยายตัวไปกดทับกระดูกทำให้เจ็บกระดูกซี่โครงใต้อกนั่นเอง ไม่ได้เป็นอาการที่ร้ายแรง และจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นหลังคลอดค่ะ

การป้องกันอาการเจ็บกระดูกซี่โครงใต้อก

  • เลือกบราที่พอดีกับหน้าอกที่ขยายขึ้น อย่าทนใส่บราขนาดเดิม ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เพราะยิ่งไปเพิ่มการกดทับของกระดูกมากขึ้น และควรเลือกบราที่สวมใส่สบาย ไม่มีโครงมากดทับ
  • การนั่ง ต้องพยายามนั่งหลังตรง โดยมีหมอนรองไว้ด้านหลัง เพื่อให้บริเวณใต้อกมีเนื้อที่มากขึ้น
  • บรรเทาอาการเจ็บด้วยการบริหาร โดยให้คุณแม่นั่งยกมือทั้งสองข้างเหนือศีรษะ แล้วให้อีกคนช่วยดึงแขนคุณแม่ขึ้นทีละข้างช้าๆ สลับไปมา จะช่วยลดอาการเจ็บกระดูกได้


2 มีลมในท้อง

         สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มักมีลมในท้อง ท้องอืด เรอเหม็นเปรี้ยว ผายลม เกิดจากมดลูกที่ใหญ่ขึ้นไปเบียดกระเพาะอาหาร ทำให้เนื้อที่ในการบรรจุอาหารน้อยลง กระเพาะทำงานได้ไม่เต็มที่ ย่อยอาหารไม่สะดวก จึงเกิดมีลมในกระเพาะขึ้นได้

การป้องกันลมในท้อง

  • ยิ่งเมื่ออายุครรภ์หลังจาก 7 เดือนไปแล้ว บางท่านอาจได้ยินเสียงโครกครากในท้อง และรู้สึกว่ามีลมมากจนท้องกลมเป่งก็เป็นได้ค่ะ
  • การซอยย่อยมื้ออาหารให้เป็นมื้อเล็ก ๆ แต่ถี่ขึ้น โดยเว้นระยะห่างของแต่ละมื้อประมาณ 2-3 ชั่วโมง จะทำให้กระเพาะอาหารย่อยอาหารได้สะดวกขึ้น คุณแม่จะได้ไม่รู้สึกอึดอัดจนเกินไป
  • กินอาหารที่ย่อยง่าย ๆ เช่น เนื้อปลา ข้าวต้ม หลีกเลี่ยงอาหารมัน ๆ อาหารทอด เพราะเป็นอาหารย่อยยาก และเครื่องดื่มที่มีแก๊ส อย่างน้ำอัดลม หรือโซดา
  • คุณแม่ไม่จำเป็นต้องซื้อยาขับลมมากินเอง แต่หากอึดอัดมากจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ให้รีบไปพบคุณหมอค่ะ 

 
3 ปัสสาวะเล็ด

         ถ้าสังเกตดี ๆ คนปกติธรรมดาก็อาจเกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้ แต่อาจเกิดไม่บ่อย ปกติเราจะควบคุมการไหลปัสสาวะของเราได้ แต่ในบางกรณี เมื่ออยู่เหนือการควบคุมก็ทำให้ปัสสาวะเล็ดลอดออกมา เนื่องจากในช่องท้องมีแรงดันเพิ่มขึ้น เช่น ไอ จาม หัวเราะ หรือเวลาที่เรายกของหนัก ๆ (บางคนเกิดอาการกลัวมาก ๆ ก็ปัสสาวะเล็ดได้เหมือนกัน)

         สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูง ระบบทางเดินปัสสาวะมีการขยายตัว ส่งผลให้กล้ามเนื้อหูรูดไม่แข็งแรง ประกอบกับลูกในท้องตัวโตขึ้น มดลูกขยายตัวจนกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์อยู่ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย

การป้องกันปัสสาวะเล็ด 

  • เข้าห้องน้ำทันทีที่รู้สึกปวด ถึงแม้บางคนบอกว่าเบื่อที่จะต้องลุกขึ้นเดินบ่อย ๆ แต่การกลั้นปัสสาวะไว้นานเกินไป จะทำให้เราควบคุมตัวเองไม่ได้
  • ไม่ควรใช้วิธีดื่มน้ำให้น้อยลง เพราะการดื่มน้ำน้อยไม่ได้ช่วยแก้ปัญหานี้ และอาจเพิ่มปัญหาสุขภาพอื่นตามมาได้ เช่น อาการท้องผูก
  • หลังคลอดอาการปัสสาวะเล็ดก็จะค่อย ๆ หายไปเองค่ะ ไม่ต้องกังวล แต่ถ้าคุณแม่ยังมีอาการต่อเนื่อง ก็ควรปรึกษาคุณหมอค่ะ


4 เหงือกอักเสบ

         โดยปกติอาการเหงือกอักเสบ จะเกิดจากการดูแลทำความสะอาดฟันไม่ดีพอ มีคราบอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลเกาะบนผิวฟัน ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี กลายเป็นคราบหินปูนเกาะ เป็นแหล่งสะสมเชื้อแบคทีเรียมากขึ้น ทำให้เหงือกและคอฟันเกิดการอักเสบลุกลาม โดยอาการเริ่มต้นคือ เมื่อแปรงฟันก็มีเลือดออก เหงือกบวม ช้ำ สีคล้ำขึ้น มีกลิ่นปาก

         ในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าระหว่างตั้งครรภ์ไม่สามารถทำฟันได้ จึงละเลยในการไปหาหมอฟัน แต่ในความเป็นจริงแล้วต้องดูแลฟันมากขึ้น ถ้ามีฟันผุหรือถึงเวลาขูดหินปูนก็ต้องไปตามนัดที่ทันตแพทย์กำหนด เนื่องจากถ้าภายในช่องปากไม่ได้รับการดูแลที่ดี มีแบคทีเรียสะสมอยู่ภายในช่องปาก ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดฟันผุ และเหงือกอักเสบขึ้นมา


         ข้อควรระวังอีกเรื่อง คือ คุณแม่ที่เป็นเหงือกอักเสบมีภาวะเสี่ยงที่ลูกจะคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อย ลูกไม่แข็งแรง เนื่องจากเชื้อโรคจะไปตามกระแสเลือดเข้าสู่รก และตัวลูกน้อยในท้อง ดังนั้นอย่าปล่อยปละละเลยเรื่องฟันเด็ดขาดนะคะ

การป้องกันเหงือกอักเสบ

  • แปรงฟัน โดยใช้ขนแปรงนุ่ม ๆ แปรงเบา ๆ ทุกครั้งหลังกินอาหาร ถ้าแปรงไม่ได้ให้บ้วนน้ำ แต่อย่างน้อยต้องแปรงวันละ 2 ครั้ง และควรใช้ร่วมกับไหมขัดฟัน
  • หมั่นไปพบทันตแพทย์ เพื่อขูดหินปูนตรวจเช็กว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับฟันหรือเหงือกหรือไม่ อย่างสม่ำเสมออนกลางคืน


5 เหงื่อออกมาก

         เป็นเรื่องปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่ภายในร่างกายของคุณแม่มีการเพิ่มปริมาณเลือด เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของลูกน้อย ซึ่งส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว จึงทำให้ร่างกายเกิดความร้อนได้มากกว่าปกติ เมื่อร่างกายร้อนก็ต้องมีการระบายออกด้วยกลไกของร่างกาย คุณแม่จึงมีเหงื่อออกมากขึ้นนั่นเองค่ะ

การลดอาการเหงื่อออกมาก

  • กินอาหารที่ช่วยลดความร้อนในร่างกาย เช่น ผัก ผลไม้สด ธัญพืชต่างๆ เพราะอาหารจำพวกนี้จะมีวิตามินเกลือแร่อยู่สูง มีโพแทสเซียมมาก ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย
  • ลดอหารที่มีส่วนผสมของเกลือเนื่องจากเกลือจะทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นเมื่อร่างกายต้องการที่จะระบายความร้อนก็จะระบายเกลือออกมาพร้อมกับเหงื่อด้วยแต่ทั้งนี้เกลือยังเป็นสิ่งจำเป็นในร่างกายหากไม่ทานเลยร่างกายก็จะอ่อนเพลียได้ทั้งนี้จึงขอแนะนำให้ทานในจำนวนที่พอเหมาะ
  • ดื่มน้ำสะอาดในอุณหภูมิปกติ ก็สามารถช่วยลดความร้อนได้ดีเช่นกัน
  • เลือกเสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าเบาสบาย ซับเหงื่อได้ดี ใส่แล้วไม่อึดอัด


6 สีผิวเข้มขึ้น มีเส้นคล้ำที่หน้าท้อง

          เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ บริเวณผิวหนังที่มีสีเข้มกว่าปกติ อยู่แล้ว เช่น ลานนม จุกนม รักแร้ หน้าท้อง เส้นตามลำคอ จะมีสีเข้มขึ้น เกิดจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น ไปกระตุ้นเม็ดสีใต้ผิวหนังให้มีการทำงานมากขึ้น สีผิวจึงคล้ำขึ้น และในแต่ละคนก็แตกต่างกันไป บางคนอาจจะไม่เปลี่ยนมากมายนัก แต่บางคนสีผิวอาจคล้ำลงมาก

การลดอาการเส้นคล้ำที่หน้าท้อง

  • ในเรื่องนี้ไม่มีวิธีป้องกัน เพราะเกี่ยวกับฮอร์โมนในร่างกายที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เหมือนปัจจัยภายนอก
  • สิ่งที่พอจะช่วยได้บ้าง คือ การบำรุงผิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนเหมาะกับผิว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่น
  • สำหรับอาการที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใดค่ะ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพใจ ให้แข็งแรง ไม่ต้องเครียดกับอาการที่ถือว่า "เป็นปกติ" สำหรับคุณแม่ท้องกันนะคะ
  • การดื่มน้ำสะอาด กินผักผลไม้เพื่อให้ผิวมีสุขภาพดี จะช่วยให้ได้ผลในช่วงหลังคลอด และรอยดำทั้งหลาย จะค่อย ๆ จางหายไปหลังจากคลอดลูกแล้วเช่นกัน

 

ขอขอบคุณภาพประกอบและบทความ : tinyzone

Week 1-3 : สัปดาห์ที่ 1-3 ของการตั้งครรภ์
เซลล์ไข่เริ่มกลายเป็นตัวอ่อนและเจ...
2013-04-05

10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน
10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน (จากปากเรา)...
2013-06-10

การอาบน้ำเด็กทารกอย่างถูกวิธี
วันนี้เราเลยมีวิธีที่จะทำให้เด็กส...
2013-05-21

พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และของเล่นที่เหมาะสม
พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และข...
2013-07-02

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจขณะตั้งครรภ์
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ...
2013-04-25

Week 5 : สัปดาห์ที่ 5 ของการตั้งครรภ์
สัปดาห์นี้ ควรฝากครรภ์ได้แล้วนะ...
2013-03-29

9 วิธีเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์
คุณแม่ที่กำลังอยากจะมาบุตรต้องทำอ...
2013-06-28

การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ควรมองข้าม
การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่...
2013-04-05

น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง
น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง...
2013-04-29

Week 13 : สัปดาห์ที่ 13 ของการตั้งครรภ์
เต้านมของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น, ...
2013-03-29