ภาษาไทย
English

กิจกรรมและเกมส์

 

เด็กๆไม่ควรเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้เขาได้เล่นด้วย 

การเล่นเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดที่ลูกน้อยควรจะได้ทำ

     เมื่อเวลาที่ลูกน้อยเล่น เขาจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆเกี่ยวกับตนเองและสิ่งที่เขาสามารถทำได้ การเล่นช่วยให้เขาได้รู้จักเพื่อน ได้เล่นสนุกสนานกับเพื่อนๆ และค้นพบโลกรอบๆตัวเขา เพียงแค่ปล่อยให้ลูกน้อยได้เล่นและคุณแม่ก็เล่นกับเขาด้วย ก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ลูกน้อยได้หลายๆทาง เช่น

 

  • การสำรวจค้นหา 

     นักสำรวจตัวน้อยของคุณแม่จะได้เรียนรู้พัฒนาทักษะและความสามารถผ่านการเรียนรู้จากสิ่งที่เขาค้นพบ

 

  • การเคลื่อนไหว 

     เมื่อลูกน้อยของคุณแม่เริ่มคลานหรือเดินได้ เขาจะอยากเล่นไปทั่วบ้าน การที่เขาสามารถคลานหรือเดินไปตามที่ต่างๆได้ด้วยตนเองแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจที่เพิ่มขึ้นลูกน้อย

 

  • การจินตนาการ 

     เมื่อลูกน้อยของคุณเริ่มหัดเดิน เขาจะเริ่มเล่นโดยใช้จินตนาการ ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่และน่าตื่นเต้นสำหรับเขา

 

  • ความคิดสร้างสรรค์ 

     เด็กๆ ทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ในการเล่น ลูกน้อยของคุณแม่จะดีใจเวลาที่คุณแม่ชื่นชมภาพวาดหรือภาพระบายสีของเขา

 

  • การทำความรู้จักกับผู้อื่น 

     การเล่นกับเพื่อนๆ เป็นวิธีที่ดีทีเดียวที่จะทำให้ลูกน้อยของคุณได้เรียนรู้ทักษะการเข้าสังคมที่สำคัญๆ เช่น การรู้จักการแบ่งปันและมีน้ำใจกับเพื่อนๆ

 

  • การแก้ไขปัญหา 

     ลูกน้อยของคุณแม่จะมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นเมื่อได้เล่นของเล่นที่ต้องใช้ความคิด และได้ลองแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง    

 

  • ภาษา 

     การได้เล่นกับเด็กคนอื่นๆ จะช่วยให้ลูกน้อยได้พัฒนาเรื่องคำศัพท์ คำพูด และทักษะการสื่อสารได้ดีขึ้น

 

เคล็ดลับดีๆในการสร้างความมั่นใจให้ลูกน้อยของคุณแม่จากการเล่นของเขา

 

  • ระหว่างที่ลูกน้อยเล่น พยายามชมเชยลูกบ่อยๆ 
  • ใช้ของเล่นที่เหมาะสมกับวัยของลูกน้อย 
  • สนับสนุนให้ลูกคุณพยายามแก้ไขปัญหาระหว่างการเล่น 
  • ส่งเสริมให้ลูกได้เรียนรู้จากการเล่นไปทีละนิดๆ 
  • ให้ลูกน้อยเลือกของเล่นที่อยากเล่นเอง (หากของเล่นนั้นไม่เป็นอันตรายกับเขา) 
  • ทำให้ลูกน้อยรู้ว่าคุณสนใจโดยการดูเขาเล่น 
  • แสดงความเข้าใจและเห็นใจหากลูกของคุณเกิดปัญหาระหว่างที่กำลังเล่น 
  • หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบวิธีการเล่นของลูกคุณกับเด็กคนอื่นๆ 
  • คุยเรื่องความสำเร็จในการเล่นของลูกน้อยกับเพื่อนๆ หรือญาติๆ ต่อหน้าเขา 
  • ขณะที่ลูกกำลังเล่น ควรจะกอดลูกบ้างเป็นบางครั้ง

  

ของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย

     ช่วงวัยของลูกน้อยจะเป็นตัวบอกว่าของเล่นอะไรที่ดีที่สุดสำหรับลูกคุณ ตัวอย่างเช่น เด็กวัย 2 เดือนจะชอบเห็นโมบายหมุนไปมาเมื่อโดนลมพัดเบาๆ  ในขณะที่เด็กวัย 15 เดือนต้องการความตื่นเต้นมากขึ้น เช่น เล่นทำกับข้าว แต่หากคุณแม่ต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับของเล่นที่ทำให้ลูกน้อยสนใจ เพียงคลิกที่หมวดอายุของลูกคุณได้ตามด้านล่าง

 


วัย 1 เดือน

 

     ลูกน้อยในวัยแรกเกิดจะเริ่มทำความคุ้นเคยกับแสง เสียงต่างๆ เสียงคนพูดคุยและความอบอุ่นสบายรอบๆ ตัว สำหรับในช่วงวัยนี้ เจ้าตัวน้อยจะพยายามทำความรู้จักคุณแม่ แต่เขาจะมองเห็นแต่สิ่งของที่อยู่ในระยะใกล้มากๆ เท่านั้น หรือระยะประมาณเดียวกับที่เขามองเห็นใบหน้าของคุณพ่อหรือคุณแม่ตอนที่กำลังอุ้มเขาอยู่ 

     ของเล่นที่เหมาะกับลูกน้อยในวัยนี้คือ โมบายแขวนเตียงที่มีสีสันแตกต่างกันและมีเสียงดนตรี หรือหาของเล่นที่เขย่าแล้วมีเสียงให้เขาเล่นก็ได้ โดยหาของที่เป็นสีขาว สีดำ หรือสีแดงจะดีที่สุด

 


 วัย 2 เดือน


     ในช่วงวัยนี้ เจ้าตัวน้อยของคุณเริ่มที่จะตื่นเต้นกับสีและสิ่งรอบตัว ในระยะนี้ คุณแม่อาจจะซื้อของเล่นที่สามารถเขย่าได้และมีเสียงหรือตุ๊กตาสัตว์ที่มีสีสันสดใสแตกต่างกันให้เขาเล่น 

     ลูกน้อยในวัย 2 เดือนจะฟังเสียงได้ดีขึ้นและชอบเสียงเพลง ลองเปิดเพลงบรรเลง หรือเพลงประเภทแจ๊ซให้เขาฟัง

 


วัย 3 เดือน

 

     สำหรับในช่วงวัยนี้ ลูกน้อยของคุณจะเริ่มสังเกตเห็นเด็กคนอื่นๆ หรืออาจจะเริ่มตั้งคอได้ คุณแม่อาจซื้อที่นั่งโยกเยก เปลเด็ก หรือของเล่นยางเพื่อให้เขาหัดกัดเล่น หรือคุณอาจติดกระจกไว้ที่เตียงของลูกคุณก็ได้

     ในระยะนี้ ลูกน้อยของคุณจะชอบจ้องหน้าคน (หรือหน้าสัตว์เลี้ยง) ดังนั้นเพื่อเป็นการกระตุ้นการมองเห็นของลูกน้อย คุณควรจะติดรูปใบหน้าคนตามฝาผนังใกล้ๆกับที่เปลี่ยนผ้าอ้อมหรือในบริเวณสำหรับเล่นของเขา หรือหาของเล่นที่มีรูปใบหน้ายิ้มแย้มต่างๆ กัน

 


 วัย 4 เดือน

 

     เมื่อลูกน้อยเริ่มแบมือได้แสดงว่าเขาพร้อมแล้วที่จะเรียนรู้เรื่องการสัมผัสและความรู้สึก เขาอยากจะเอื้อมมือไปสัมผัสและเรียนรู้ว่าสิ่งของนั้นเป็นอย่างไร ในระยะนี้คุณแม่สามารถซื้อของเล่นที่มีเสียงหรือของเล่นยางให้เขากัดเล่นก็ได้ 

     Play gym ที่มีของเล่นสีสันสดใส แขวนหรือมีราวของเล่นแขวนไว้กับเตียงก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับลูกคุณได้

 


 วัย 5 เดือน

 

     ในช่วงวัยนี้ ลูกน้อยสามารถที่จะใช้มือหยิบจับได้ดีขึ้นและชอบของเล่นประเภท เช่น ถ้วยพลาสติก ลูกบอล ตัวต่อหรือห่วงกลมๆ ที่หมุนๆ อยู่ปลายรถเข็นหรือปลายเปล 

     หรือหาของเล่นที่จะสามารถให้ลูกใช้มือตีเล่นได้ เพราะเวลานี้ มือของเขาก็ถือเป็นของเล่นโปรดชิ้นใหม่ด้วยเช่นกัน

 


 วัย 6 เดือน

 

     ในช่วงนี้เจ้าลูกน้อยเริ่มเคลื่อนไหวได้มากขึ้นแล้ว ดังนั้นคุณแม่ควรจับเขานั่งรถหัดเดิน โดยให้มีถ้วยพลาสติก ลูกบอล ตุ๊กตาสัตว์หรือ ของเล่นที่มีเสียงและทำนองเพลงให้เขาเล่น 

     คุณแม่อาจจะหาของเล่นที่ตอบสนองต่อปฏิกิริยาของเขา เช่น ของเล่นที่เกิดเสียงแหลมๆเวลาที่เขาบีบเล่น 

 


วัย 7 เดือน

 

     ช่วงระยะนี้เป็นช่วงที่ลูกสนใจอยากเล่นกับคุณพ่อคุณแม่ และเขาจะสนุกเวลาที่คุณแม่เล่นจ๊ะเอ๋กับเขา ดังนั้นควรหาของเล่นที่ทำให้เขาประหลาดใจ จะช่วยเรียกร้องความสนใจจากลูกน้อยได้ เช่น กล่องของเล่นที่เปิดแล้วมีตุ๊กตาโผล่ขึ้นมา 

     Activity centre ก็เหมาะสำหรับลูกคุณในวัยนี้ เพราะมีของเล่นหลายสิ่งหลายอย่างให้ค้นหา หรือคุณอาจหาช้อน หม้อหรือกระทะที่เป็นไม้ให้เขาตีเล่น

 


วัย 8 เดือน

 

     ในช่วงนี้ เจ้าตัวน้อยจะเริ่มคลานไปรอบๆ บ้านได้แล้ว และเขาอยากจะมีส่วนร่วมกับสิ่งของที่คุณพ่อคุณแม่กำลังใช้อยู่ ดังนั้นคุณแม่อาจหาชามพลาสติกใบใหญ่ ช้อนไม้และใส่สิ่งของไว้ในข้างในให้เขาเล่นก็ได้ 

     นอกจากนี้ของเล่นประเภทตัวต่อก็เป็นทางเลือกที่ดีที่จะช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อของลูกน้อย

 


วัย 9 เดือน

 

     ลูกน้อยในช่วงวัยนี้จะแข็งแรงขึ้นและเคลื่อนไหวได้มากขึ้นแล้ว และเขาก็ไม่กลัวของเล่นที่มีเสียงดัง ในวัยนี้ลูกน้อยจะสนใจทำกิจกรรมมากขึ้น เขาจะชอบคลานไล่ตามรถของเล่นและชอบกดปุ่มอะไรก็ตามที่ทำให้เกิดเสียง 

     ดังนั้นของเล่นที่มีปุ่มที่ทำให้เกิดเสียงต่างๆ จะทำให้ลูกของคุณสนุกได้มากขึ้น

 


วัย 10 เดือน

 

     ลูกของคุณใกล้จะเริ่มเดินได้แล้ว ดังนั้นควรจะซื้อของเล่นที่จะช่วยให้เขาเล่นและสามารถเคลื่อนไหวได้ เช่น ม้าโยก หรือของเล่นที่ให้เขาลากจูง 

     รถเข็นที่เขาสามารถผลัก หรือ รถที่เขาขึ้นไปนั่งขี่ได้ จะช่วยบริหารขาของลูกน้อย และช่วยส่งเสริมพัฒนาการเดินของเขาให้ดีขึ้น

 


วัย 11 เดือน

 

     หนังสือที่เป็นกระดาษแข็งเหมาะสำหรับลูกน้อยในช่วงวัยนี้ เพราะเขาไม่สามารถฉีกกระดาษขาดหรือกัดกินหนังสือได้ 

     ลองหาของเล่นเช่น กริ่ง หีบเพลง ระฆังหรือกลอง ให้ลูกของคุณตีเล่นเพื่อเรียนรู้วิธีการที่จะทำให้เกิดเสียง

 


วัย 12 เดือน

 

     ในระยะนี้ ลูกน้อยจะเริ่มอยากทำอะไรด้วยตนเองมากขึ้น เขาจะอยากเดินไปมารอบๆบ้าน (โดยอาจได้รับการช่วยเหลือจากผู้ใหญ่หรือเดินได้ด้วยตนเอง) 

     นอกจากนี้ เขาจะเริ่มชอบเล่นน้ำ คุณแม่สามารถส่งเสริมการเล่นของลูกน้อยได้โดยหาอ่างใส่น้ำให้เขาลงไปเล่นโดยมีช้อนหรือถ้วยพลาสติกให้เขาตักน้ำเล่น ก็ถือเป็นแหล่งเพลิดเพลินแห่งใหม่ให้กับเจ้าตัวน้อยได้เช่นกัน 

 


วัย 13 to 18 เดือน

 

     ลูกน้อยเดินเตาะแตะของคุณเริ่มจะมีพลังงานมากขึ้นแล้ว ตอนนี้เขาชอบเล่นบอล เล่นชิงช้าและชอบปีนป่ายมากขึ้น 

     ระยะนี้ เจ้าตัวน้อยเริ่มใช้มือทำงานร่วมกันได้มากขึ้นแล้ว ของเล่นที่ให้เขาหัดปีนป่าย ได้เล่นซ่อนตัว ไม้ลื่นหรือของเล่นที่ฝึกทักษะการเคลื่อนไหวที่เพิ่มขึ้นก็เป็นที่สนใจของลูกน้อยเช่นกัน

 


วัย 19 to 24 เดือน 

 

     ลูกน้อยของคุณเรียนรู้ที่จะทำอะไรโดยใช้มือตัวเองได้แล้ว 

     ของเล่นที่มีชิ้นส่วนต่อๆกัน เช่น ของเล่นป๊อบอัพ, ตัวต่อซ้อนๆ กัน, ตัวต่อตามรูปทรง รถที่มีประตูเปิดปิด หรือครัวเด็กเล่นที่มีที่จับเปิดประตู ช่วยสร้างสรรค์โอกาสในการสำรวจให้เขาได้อย่างไม่จำกัด

 


วัย 25 to 30 เดือน 

 

     ในวัย 2 ขวบ ลูกน้อยจะคล่องแคล่วมากขึ้น ดังนั้นควรหาของเล่นหรือกิจกรรมที่ท้าทายพลังงานของเขา 

     เจ้าตัวน้อยในช่วงวัยนี้จะสนใจรถสามล้อถีบ ศิลปะและดนตรี และการเล่นตัวต่อ Lego และ Duplos


 

 


วัย 31 to 36 เดือน

 

     เมื่อลูกน้อยเริ่มโตขึ้นแล้ว เขาจะมีจินตนาการมากขึ้น เขาจะเริ่มคิดเล่าเรื่อง มีตัวละคร บทละครและการผจญภัยมากขึ้น 

     คุณแม่ช่วยจัดหาเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ให้เขาได้ลองเล่นตามบทที่เขาต้องการ ลูกน้อยสามารถจินตนาการไปต่างๆ นานา เขาสามารถเปลี่ยนจากสิ่งที่ธรรมดาๆ เช่น กล่องกระดาษให้เป็นยานอวกาศได้เลย

ขอขอบคุณภาพประกอบและบทความ : Anmam

Week 1-3 : สัปดาห์ที่ 1-3 ของการตั้งครรภ์
เซลล์ไข่เริ่มกลายเป็นตัวอ่อนและเจ...
2013-04-05

10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน
10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน (จากปากเรา)...
2013-06-10

การอาบน้ำเด็กทารกอย่างถูกวิธี
วันนี้เราเลยมีวิธีที่จะทำให้เด็กส...
2013-05-21

พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และของเล่นที่เหมาะสม
พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และข...
2013-07-02

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจขณะตั้งครรภ์
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ...
2013-04-25

Week 5 : สัปดาห์ที่ 5 ของการตั้งครรภ์
สัปดาห์นี้ ควรฝากครรภ์ได้แล้วนะ...
2013-03-29

9 วิธีเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์
คุณแม่ที่กำลังอยากจะมาบุตรต้องทำอ...
2013-06-28

การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ควรมองข้าม
การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่...
2013-04-05

น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง
น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง...
2013-04-29

Week 13 : สัปดาห์ที่ 13 ของการตั้งครรภ์
เต้านมของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น, ...
2013-03-29