มุมพ่อแม่ / คุณแม่มือใหม่
|
เล็บ...บอกโรค
ทารกตัวน้อยๆ ที่อยู่ในท้องคุณแม่เริ่มสร้างเล็บตั้งแต่ตอนคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 10 สัปดาห์ และพัฒนาเป็นเล็บที่สมบูรณ์เหมือนผู้ใหญ่ตอนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ เล็บมืองอกวันละประมาณ 0.1 มิลลิเมตรโดยเฉลี่ยอัตราการงอกของเล็บที่แต่ละนิ้วมีไม่เท่ากัน โดยเล็บมือจะงอกเร็วกว่าเล็บเท้า เด็กทารกเล็บจะงอกเร็วกว่าผู้ใหญ่ เล็บจะงอกไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุดต่างจากผมที่งอกเร็วกว่า และมีการงอกแล้วหยุดเป็น 3 ระยะ
ความผิดปกติของเล็บเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น...
โรคผิวหนัง
โรคสะเก็ดเงิน : ร้อยละ 10-50 ของสะเก็ดเงินทำให้เกิดความผิดปกติที่เล็บ โดยจะเป็นหลุมที่เล็บ เมื่อเป็นมากขึ้น โคนเล็บจะมีสีแดงอมเหลือง ส่วนปลายเล็บจะมีลักษณะคล้ายเชื้อรา เล็บจะหนา เหลือง และเปราะง่าย
โรคผิวหนังอักเสบ : เช่น pityriasis rubra pilaris, lichen planus และพบภาวะผมร่วง (alopecia areata)
ยาและสารเคมี
ยารักษาโรคมะเร็ง ยามาลาเรีย และยาแก้อักเสบกลุ่ม tetracycline หลังได้รับยา 3-8 สัปดาห์ อาจทำให้สีเล็บเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำได้
การติดเชื้อ
เชื้อรา : ส่วนใหญ่จะพบในเล็บเท้ามากกว่าเล็บมือ โดยจะเริ่มเป็นที่นิ้วหัวแม่เท้า แล้วลามไปนิ้วเท้าอื่นแล้วลามไปนิ้วมือ เล็บจะขาวขุ่น ผิวเล็บขรุขระและยุ่ย การรักษาจะค่อนข้างยาก ยาทาไม่ค่อยได้ผล แต่ใช้รวมกับการรับประทานยาได้ การรักษาต้องรับประทานยานาน 6-12 เดือน ในเด็กๆ พบค่อนข้างน้อย และเนื่องจากการรับประทานยาฆ่าเชื้อราต้องทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้มีผลกับการทำงานของตับได้ด้วย ดังนั้นควรปรึกษาคุณหมอ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
paronychia : พบได้บ่อยพบในคุณแม่บ้านที่มือเปียกน้ำบ่อยๆ ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณรอบๆ เล็บ บริเวณโคนเล็บ และมีช่องที่แยกจากแผ่นเล็บ ทำให้สารเคมีจากอาหาร ผงซักฟอก และสบู่ เข้าไปในบริเวณนั้นได้ ผิวหนังจะเริ่มบวมแดง ถ้าเป็นระยะแรก มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ถ้าเป็นเรื้อรังส่วนใหญ่ แต่อาจพบเป็นสาเหตุจากเชื้อราได้ด้วย ซึ่งการรักษา จะรักษาตามสาเหตุ เช่น ถ้าพบเชื้อราแคนนิดา ให้รักษาด้วยยาฆ่าเชื้อรา ถ้าขูดเชื้อ และไม่พบเชื้อคุณหมอจะให้ยาสเตียรอยด์ทา
เริม : เป็นตุ่มน้ำใสๆ อยู่รวมกันเป็นสีเหลืองคล้ายรังผึ้ง ส่วนใหญ่จะพบบริเวณนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ อาจเกิดจากการมีรอยแผลเล็กๆ บริเวณผิวหนัง เด็กๆ ที่กัดเล็บหรือดูดนิ้ว ผื่นจะเป็นอยู่ 2-3 สัปดาห์และอาการจะดีขึ้น การรักษาด้วยยา acyclovia จะทำให้ร่นเวลาการเป็นโรคให้สั้นลง
ไวรัส : ทำให้เล็บร่อน แผ่นเล็บแยกจากเนื้อด้านล่าง เกิดหลังการติดเชื้อไวรัส และหลังเกิดอุบัติเหตุ
หูด : ส่วนใหญ่มักพบที่ข้างเล็บมือ ส่วนหูดที่เล็บพบได้ค่อนข้างน้อย การรักษาทำโดยการทายา ใช้ความเย็น cryotheraphy จี้ด้วยไฟฟ้า เลเซอร์หรือการตัดออก
![]() บาดเจ็บ Trauma
เช่น ถูกประตูหนีบ ถูกค้อนทุบ จะทำให้เลือดออกบริเวณใต้แผ่นเล็บ เด็กที่กัด และแกะเล็บให้สั้นและไม่เรียบ เนื้อที่อยู่บริเวณโคนเล็บมักจะเผยอขึ้น
โรคมะเร็ง Malignant melanoma
มะเร็งของเล็บส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เล็บจะมีรอยสีน้ำตาลหรือดำ กระจายไปยังบริเวณที่มีการสร้างเล็บ เนื้อร่ายจะค่อยๆ โตขึ้นและจะทำให้เล็บนูนขึ้น ซึ่งถ้ารักษาตั้งแต่เริ่มแรกก็จะได้ผลดี
สำหรับน้องๆ คนไหนที่มีเล็บเป็นหลุมเล็กๆ ที่เรียกว่า pitting nail คุณหมอจะทายาให้บริเวณเล็บ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตเล็บของลูกด้วยนะคะ ถ้าลูกเล็บสีเปลี่ยนไปหรือผิดปกติก็อย่านอนใจ เพราะโรคหัวใจ โรคปอด ภาวะขาดวิตามินและสารอาหารก็ทำให้เกิดความผิดปกติของเล็บได้เช่นกันค่ะ ขอขอบคุณภาพประกอบและบทความ : momchannel |