ภาษาไทย
English

ลูกซนเป็นปกติแค่ไฮเปอร์หรือเป็น...โรคซนสมาธิสั้น

 

 

 
     คืนหนึ่งขณะฟังวิทยุ ได้ฟังครูท่านหนึ่งพูดออกอากาศเกี่ยวกับเด็กที่มีปัญหาการเรียนว่า เวลาอ่านหนังสือ ทำการบ้าน ทำไม่ได้นาน แต่ทำไมกลับดูทีวี เล่นเกมได้ทั้งวัน จะเป็นโรคสมาธิสั้นได้อย่างไร
 
     ทำให้นึกถึงคุณครูอีกหลายๆ ท่านที่พูดถึงนักเรียนที่มีปัญหาการเรียนแล้วคุณพ่อคุณแม่ก็พาไปปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเด็กด้านพฤติกรรม ด้วยสงสัยว่าลูกจะเข้าข่ายโรคซนสมาธิสั้นหรือไม่?
 
     คุณครูบางท่านคงนั่งยืนยันอย่างมั่นใจ แม้หมอจะวินิจฉัยว่าเด็กเป็นโรคซนสมาธิสั้นแล้วก็ตามว่า "ไม่เป็นหรอก"
 
     ลูกคนอื่นซนกว่านี้ เด็กฉลาดเรียนได้ แต่เป็นเด็กไม่ใส่ใจการเรียน เป็นเด็กไม่รับผิดชอบ ดื้อ ยังเล็กเด็กอยู่ โตขึ้นเดี๋ยวก็ดีขึ้นเอง จนถึงขั้นที่คุณแม่กลับมาบอกว่า "คุณครูไม่เชื่อว่ามีโรคนี้ในโลกนี้" กันเลยทีเดียว
 
     ทำให้คุณครูกลายเป็นตัวช่วยให้หมอเหนื่อยขึ้นในการทำความเข้าใจกับคุณพ่อคุณแม่ แต่หมอก็เห็นใจคุณครูว่า ไม่มีคุณครูท่านไหนอยากให้ลูกศิษย์ไม่สบายอีกทั้งโรคซนสมาธิสั้นเป็นโรคของพฤติกรรม ทำให้เข้าใจยาก เพราะเด็กที่เป็นโรคนี้ก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรค ไม่เหมือนโรคทางกายที่เด็กบอกได้ เช่น มีไข้ มีน้ำมูก ผู้ใหญ่เอง ไม่ว่าคุณครูหรือผู้ปกครองก็จับต้องอาการไข้มองเห็นน้ำมูกไหลไม่ได้ หรือขอให้คุณหมอช่วยเจาะเลือดเก็บปัสสาวะตรวจ เอกซเรย์ ไปจนถึงการใช้คอมพิวเตอร์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ให้ใช้เครื่องมือไฮเทคสุดๆ อย่างไรก็บอกไม่ได้ว่าซน หรือไม่จดจ่อมากน้อยเพียงใด
 
     ความซนก็เป็นเรื่องปกติในวัยเด็กที่ผู้ใหญ่จะพูดกันว่า เป็นเด็กก็ต้องซน ถ้าเกิดซึม ไม่ซน ต้องรีบพาไปหาหมอ แสดงว่าลูกไม่สบายเข้าขั้นอาการหนัก
 
     ส่วนการไม่ชอบเรียนหนังสือ ทำการบ้าน ผู้ใหญ่มองเห็น นึกไปนึกมาตอนคุณพ่อคุณแม่อายุเท่าลูกก็เป็นเหมือนกัน ประมาณว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ยังไงยังงั้น
 
     คำตอบของคำถามที่แล้วที่ว่าเมื่อไรคุณพ่อคุณแม่ คุณครูควรกังวลในเรื่องพฤติกรรมความซน ไม่สนใจพฤติกรรมการเรียน จดจ่อไม่ดี คือ เมื่อพฤติกรรมนั้นมากจนส่งผลทำให้เด็กไม่สามารถทำหน้าที่ของเด็กนักเรียน คือ การเรียนได้อย่างปกติ อย่างที่เพื่อนๆ ส่วนใหญ่ทำได้
 
     เพราะในแต่ละห้องจะมีชนกลุ่มน้อยที่มีปัญหาในการเรียน ซึ่งพฤติกรรมของเพื่อนๆ กลุ่มน้อยนี้อาจเป็นน้อย เป็นเท่า หรือมากกว่าก็ตาม แต่มีผลทำให้พ่อแม่รู้สึกกลุ้มใจจริงๆ พฤติกรรมอะไรบ้างที่พึงสังเกต และบ่งถึงข้อควรระวังมีอยู่ 3 กลุ่มคือ


1. พฤติกรรมไม่นิ่ง ไม่อยู่เฉย ซน
 
     จะมีได้ตั้งแต่น้อยๆ คือ เด็กจะซนยุกยิกคล้ายหนุมานชาญสมรเวลาเราดูโขน ถ้ามากขึ้นก็จะลุกเดิน นั่งไม่ติดที่ หรือมากจนวิ่ง ปีนป่าย ทั้งที่ระวังและไม่ระวังอันตราย เช่น ปีนราวระเบียง ขึ้นไปดาดฟ้าโรงเรียน ปีนไม่กลัวตกอย่างที่เคยเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ อีกทั้ง พฤติกรรมที่เด็กสามารถพูด ช่างคุย พูดมาก พูดเก่ง ลูกพูดตลอดทางจากบ้านถึงหัวหินโดยไม่หยุดเลย
     คุณแม่คนหนึ่งมาเล่าว่า ลูกช่างพูด พูดไม่หยุด จนคุณแม่ต้องถามว่า "ไม่เหนื่อยบ้างหรือลูก"
     ที่โรงเรียน คุณครูจะบ่นเรื่องคุยในชั้นเรียน คุณครูเผลอเมื่อไหร่เป็นคุย เข้าข่าย "นิ่งเป็นหลับ ขยับเป็นคุย ไม่อยู่เฉยเลยลูกเรา"

2. พฤติกรรมที่ยั้งตัวเองไม่ได้
 
     เด็กชอบแสดงความหุนหัน ต้องการทันที ใจร้อน รอคอยไม่ได้ พูดโพล่ง พูดแทรก แซงคิวขอพูดก่อน หรือชิงตอบก่อนผู้ใหญ่จะพูดจบ ผู้ใหญ่จะสอนอย่างไรก็ยังเผลอทำ

3. พฤติกรรมจดจ่อไม่ได้ จดจ่อได้ไม่นาน
 
     สมาธิไม่ดีในเรื่องเกี่ยวกับการเรียน เช่นการทำการบ้าน การอ่านหนังสือเรียน ส่วนที่เด็กสามารถจดจ่อทำอะไรในเรื่องอื่นๆ ที่เด็กชอบ เพราะเป็นสมาธิที่เกิดจากชอบ
     แต่ในโรคนี้จะเน้นสมาธิที่เกี่ยวกับการเรียน

     เด็กอาจทำของหายลืมของบ่อย เช่น อุปกรณ์การเรียน การบ้าน มีตั้งแต่ไม่เอากลับมาทำ ทำแล้วไม่เอาไปส่ง เป็นบ่อยไม่สมวัย จนคุณพ่อคุณแม่อาจเคยสงสัยว่า ทำไมลูกแก่ไวกว่าคุณพ่อคุณแม่ ขี้ลืมเป็นวัยแก่กันนะ

     ถ้าลูกมีพฤติกรรมข้างต้นจะมากหรือน้อยก็ตาม แต่พฤติกรรมนั้นมากจนรบกวนการเรียนรู้ของลูกทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ทำให้คุณครูต้องดูแลเป็นพิเศษ เช่น ให้มานั่งข้างหน้าใกล้ๆ คุณครูต้องคอยเรียกตักเตือน ถึงคุณครูบ่นในเรื่องความรับผิดชอบบ่อยๆ และอาจถูกลงโทษจากพฤติกรรมนั้นถึงขั้นตี ซึ่งมักเป็นไม้ตายสุดท้ายของครูที่จำใจใช้ เพื่อนำพาลูกให้ทำในสิ่งที่ดี

     ที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยบอกเตือนเรื่องทำการบ้าน การอ่านหนังสือเรียน ก็โอ้เอ้กว่าจะทำ แม้ลูกนั่งทำแล้ว บางคนคุณแม่ยังต้องคอยประกบ กำกับให้ทำตลอด ลูกจึงจะทำเสร็จ

     ผลการเรียนของลูกไม่เป็นไปตามความสามารถความฉลาดของลูก
     ยิ่งผลการเรียนดูแย่ลงไปเรื่อยๆ แสดงว่ามีอะไรบางอย่างมาขวางศักยภาพความฉลาดลูกให้แสดงออกไม่เต็มที่ เหมือนเวลาที่ไม่สบาย เป็นไข้ ผลสอบก็ทำได้ไม่ดีเท่าเวลาสบายดี โดยเฉพาะถ้ามีคำแนะนำจากคุณครูในหมวดคำ "ถ้า" เช่น ถ้าสนใจเรียน, ถ้าใส่ใจการเรียน, ถ้าตั้งใจเรียน....จะดีกว่านี้ หรือหมดคำ "แต่" เช่น ลูกคุณพ่อคุณแม่ฉลาด เรียนได้ แต่ไม่สนใจ, แต่ไม่รับผิดชอบ, แต่ไม่สนใจเวลาเค้าสอน, แต่เหม่อ เป็นต้น

     ท้ายสุด เมื่อคุณพ่อ คุณแม่ ได้พยายามนำพาลูกทุกวิถีทางแล้ว เรียกว่ากี่กลยุทธ์เคล็ดลับไม่ว่าของเจ้าสำนักไหน (ไทย จีน แขก ฝรั่ง) ได้เอามาใช้จนหมดไส้ หมดพุงแล้ว ลูกก็ยังไม่ดีเท่าที่ควรล่ะก็ อย่ารอช้าขอให้ครูแนะนำ หรือคุณพ่อ คุณแม่พาลูกไปหาแพทย์ที่ดูแลด้านพฤติกรรมให้ช่วยวิเคราะห์เจาะลึกว่า 

     อันพฤติกรรมของลูกนั้นเข้าข่ายโรคทันสมัยในยุคดิจิตอลว่าเป็น "โรคซนสมาธิสั้น" หรือไม่แต่ไม่ว่าลูกจะใช่หรือไม่ใช่โรคนี้ คุณหมอจะช่วยหาคำตอบและให้คำแนะนำกับคุณพ่อคุณแม่ได้ค่ะ


ขอขอบคุณภาพประกอบและบทความ : ขอบคุณขอมูลดีๆ จาก คู่สร้างคู่สม

Week 1-3 : สัปดาห์ที่ 1-3 ของการตั้งครรภ์
เซลล์ไข่เริ่มกลายเป็นตัวอ่อนและเจ...
2013-04-05

10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน
10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน (จากปากเรา)...
2013-06-10

การอาบน้ำเด็กทารกอย่างถูกวิธี
วันนี้เราเลยมีวิธีที่จะทำให้เด็กส...
2013-05-21

พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และของเล่นที่เหมาะสม
พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และข...
2013-07-02

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจขณะตั้งครรภ์
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ...
2013-04-25

Week 5 : สัปดาห์ที่ 5 ของการตั้งครรภ์
สัปดาห์นี้ ควรฝากครรภ์ได้แล้วนะ...
2013-03-29

9 วิธีเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์
คุณแม่ที่กำลังอยากจะมาบุตรต้องทำอ...
2013-06-28

การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ควรมองข้าม
การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่...
2013-04-05

น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง
น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง...
2013-04-29

Week 13 : สัปดาห์ที่ 13 ของการตั้งครรภ์
เต้านมของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น, ...
2013-03-29