ภาษาไทย
English

ทางเลือกในการคลอด

        ช่วงใกล้คลอดคุณแม่อาจกังวลว่าจะคลอดแบบไหนดี จะคลอดเองแบบธรรมชาติหรือผ่าคลอดทางหน้าท้อง ทางที่ดีคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ถึงทางเลือกในการคลอดและวิธีการดูแลขณะคลอด เพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสม และช่วยให้คุณแม่คลายความกังวล สามารถเตรียมตัวเพื่อการคลอดได้อย่างมั่นใจ

 

โดยทั่วไปแล้ว ทางเลือกในการคลอดมีดังนี้

  • การคลอดธรรมชาติ เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์ว่าเป็นวิธีการคลอดที่ดีที่สุดในกรณีที่คุณแม่มีร่างกายแข็งแรงและลูกน้อยไม่มีความผิดปกติใดๆ เนื่องจากไม่ต้องเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน การติดเชื้อ และการคลอดผ่านทางช่องคลอดจะช่วยรีดน้ำคร่ำที่อยู่ในปอดของลูกออกมาจนหมด ทำให้ปอดขยายตัวได้ดี
  • การคลอดธรรมชาติโดยฉีดยาที่ไขสันหลัง เป็นวิธีการคลอดแบบธรรมชาติที่แพทย์จะฉีดยาเข้าไขสันหลังเพื่อลดความเจ็บปวดของอาการเจ็บท้องคลอด ซึ่งการฉีดยานี้จะทำให้คุณแม่รู้สึกชาตั้งแต่เอวลงมา แต่ยังรู้สึกตัวตลอดเวลา 
  • การผ่าตัดคลอด เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถคลอดได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากลูกมีขนาดโตมากหรืออยู่ในท่าที่ผิดปกติ คุณแม่มีโรคประจำตัว หรืออื่นๆ ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าการคลอดธรรมชาติอาจมีความเสี่ยงต่อคุณแม่และลูกน้อย อย่างไรก็ดี สำหรับคุณแม่ที่สามารถคลอดเองได้แต่ต้องการผ่าตัดคลอดก็ทำได้เช่นกัน แต่วิธีการผ่าตัดคลอดจะทำให้คุณแม่เสียเลือดมากกว่าและเจ็บแผลนานกว่าวิธีการคลอดแบบธรรมชาติ

 

       ในช่วงเวลาการคลอด ทีมแพทย์ซึ่งประกอบด้วย สูติแพทย์ วิสัญญีแพทย์ รวมถึงพยาบาลวิชาชีพ จะให้การดูแลคุณแม่และลูกน้อยอย่างใกล้ชิด และทันทีที่ลูกน้อยถือกำเนิด แผนกบริบาลทารกแรกเกิด (nursery) จะเข้ามาดูแลสุขภาพลูกน้อยของคุณแม่อย่างใกล้ชิด หากพบความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย แผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (NICU) โดยทีมแพทย์และพยาบาลวิชาชีพที่ได้รับการอบรมเฉพาะทางจะเข้ามาดูแล พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

เจ็บท้องคลอดและวิธีลดอาการเจ็บ

       ในช่วงใกล้คลอด มดลูกจะขยายตัวและเคลื่อนต่ำลง เมื่อคลำดูบริเวณหน้าท้องจะรู้สึกว่ามีก้อนแข็งๆ อาการแบบนี้เรียกว่า “ท้องแข็ง” หรือ เจ็บท้องเตือน ซึ่งการแข็งตัวของมดลูกนี้จะมีความถี่ที่ไม่สม่ำเสมอ อาจจะนานประมาณ 20-25 วินาที ในแต่ละครั้ง ซึ่งอาการท้องแข็งจะเกิดขึ้นได้ในช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด

       อาการเจ็บท้องเตือนเป็นกระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนคลอดของร่างกายคุณแม่ ซึ่งจะช่วยให้ปากมดลูกมีความอ่อนนุ่ม เพิ่มการไหลเวียนของเส้นเลือดไปยังรก ช่วยให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ

       อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณแม่มีอาการเจ็บท้องเตือนเป็นระยะๆ และมีอาการท้องแข็งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เจ็บแบบสม่ำเสมอและเจ็บนานขึ้นเรื่อยๆ ควรไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจจะเป็นการเจ็บท้องจริงแล้วก็ได้

วิธีลดอาการเจ็บท้องคลอด

       อาการเจ็บท้องคลอดเป็นอาการที่ว่าที่คุณแม่ทุกคนต้องเผชิญในช่วงใกล้คลอด แต่ไม่ต้องกังวล เพราะในปัจจุบันมีวิธีการที่จะช่วยลดอาการเจ็บได้ ดังนี้

  • การลดความเจ็บปวดด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น ลดความตึงเครียดโดยฝึกหัดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกหายใจ ลูบหน้าท้อง และอย่าวิตกกังวลจนเกินไป พูดคุยหากำลังใจจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะคุณพ่อควรดูแลคุณแม่อย่างใกล้ชิด ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดปริมาณการใช้ยาแก้ปวดและช่วยลดความเจ็บปวดจากการคลอด
  • การลูบหน้าท้อง การลูบหน้าท้องที่เป็นจังหวะจะช่วยเบนความสนใจของคุณแม่ออกจากจุดที่เจ็บปวด มาที่ตำแหน่งที่ทำให้คุณแม่สบายขึ้น วิธีการก็คือ ทำมือทั้งสองให้มีลักษณะเป็นอุ้งมือ จากนั้นใช้อุ้งมือวางเหนือหัวหน่าว เริ่มลูบเบาๆ จากจุดนี้ไปถึงยอดมดลูก แล้วลูบลงมาถึงตำแหน่งเริ่มต้นใหม่ ทำไปเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการหายใจแบบลึกๆ ช้าๆ คือ หายใจล้างปอด 1 ครั้งแล้วต่อด้วยการหายใจแบบลึกๆ ช้าๆ
  • การใช้ยาระงับความเจ็บปวด (Systemic Analgesia) หรือการใช้ยานอนหลับ วิธีนี้สามารถระงับอาการปวดได้ดี ช่วยลดความเครียด คุณแม่สามารถนอนหลับพักผ่อนได้ในระยะแรกของการคลอด ถ้าคุณแม่รู้สึกเจ็บมาก แพทย์จะให้ยาระงับความเจ็บปวด 
  • การใช้ยาชาเฉพาะที่สกัดกั้นประสาท (Regional Analgesia) ยาจะออกฤทธิ์โดยยับยั้งการส่งผ่านกระแสประสาทนำความรู้สึกจากบริเวณมดลูกและกระดูกเชิงกรานไปสู่ไขสันหลัง ทำให้การส่งผ่านความรู้สึกของเส้นประสาทช้าลงหรือหยุดลงชั่วคราว คุณแม่จะรู้สึกชาตั้งแต่เอวลงมา เป็นการระงับความเจ็บปวดเฉพาะที่ ซึ่งในปัจจุบันนิยมใช้ยาระงับความรู้สึกนอกเยื่อหุ้มไขสันหลังชั้นนอก (Epidural Block Analgesia) มีข้อดีคือ ช่วยให้คุณแม่ไม่เจ็บครรภ์ ถ้าทำถูกวิธีและให้ขนาดยาถูกต้อง จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่อผู้คลอดและลูกน้อยในครรภ์ และไม่มีผลกระทบต่อระบบเวลาการคลอด สามารถใช้ยาชาซ้ำได้หลายครั้ง ซึ่งการใช้ยาดังกล่าวคุณแม่จะรู้สึกตัวตลอดเวลา
  • การใช้ยาระงับความเจ็บปวดชนิดสูดดม (Inhalation Analgesia) คือ การใช้ยาสลบประเภทสูดดมในขนาดต่ำ ปกติมักใช้เพื่อเสริมฤทธิ์ของยาฉีดแก้ปวด ปัจจุบันนิยมใช้ก๊าซไนตรัสออกไซด์ต่อออกซิเจนในขนาดความเข้มข้น 50:50 มีฤทธิ์เป็นยาสลบอย่างอ่อน ไม่กดการหายใจ ไม่มีผลกระทบต่อระบบไหลเวียนเลือด ไม่กดการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดโดยที่คุณแม่ไม่หลับ จึงช่วยป้องกันการสำลักอาหารได้ด้วย

       อย่างไรก็ดี แพทย์จะเป็นผู้เลือกวิธีระงับความเจ็บปวดเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อย

 

ฝึกหายใจระหว่างคลอด

การฝึกบังคับลมหายใจอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย และเมื่อถึงเวลาคลอดจะช่วยให้คุณแม่คลอดได้ง่าย สามารถฝึกได้โดย

  • นอนราบกับพื้น ใช้หมอนรองศีรษะให้สูง หลับตาและกำหนดลมหายใจเข้าออกให้ลึกๆ อย่างสม่ำเสมอ
  • ฝึกเกร็งและคลายร่างกาย เริ่มจากด้านขวา โดยกำหนดลมหายใจอยู่มือขวา กำมือแล้วเกร็งไว้สักครู่จึงคลายออก แล้วจึงทำแบบเดียวกันที่บริเวณ ไหล่ แขน ต้นแขน จากนั้นจึงเปลี่ยนไปฝึกด้านซ้าย ต่อด้วยการฝึกเกร็งกล้ามเนื้อบั้นท้าย ต้นขา น่องและเท้า
  • ช่วงสุดท้ายให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อศีรษะ คอ ใบหน้า และหน้าผาก โดยลูบเบาๆ เพื่อไล่ความตึงเครียด

รูปแบบการหายใจ

รูปแบบที่ 1 หายใจแบบลึกๆ และช้าๆ ใช้ได้ตั้งแต่ช่วงแรกของการเจ็บครรภ์ ซึ่งการบีบรัดตัวของมดลูกยังไม่รุนแรงมาก

       วิธีปฏิบัติ เมื่อมดลูกเริ่มหดตัวให้หายใจเต็มที่ (ล้างปอด) 1 ครั้ง แล้วต่อด้วยการหายใจแบบลึกและช้า โดยหายใจเข้าทางจมูกช้าๆ นับจังหวะ 1-2-3-4 แล้วผ่อนลมหายใจออกช้าๆ โดยห่อริมฝีปาก นับจังหวะ 1-2-3-4 ให้เป็นจังหวะตลอดระยะเวลาที่มดลูกบีบรัดตัวประมาณ 1 นาที เมื่อมดลูกคลายตัวให้หายใจเต็มที่ (ล้างปอด) 1 ครั้ง แล้วหายใจตามปกติในระยะพัก

รูปแบบที่ 2 หายใจแบบเร็ว ตื้น และเบา ใช้ได้เมื่อเจ็บครรภ์รุนแรงมากขึ้น ปากมดลูกเปิดมาก มดลูกจะบีบตัวแรงจนคุณแม่แทบจะทนไม่ได้

       วิธีปฏิบัติ เมื่อมดลูกบีบรัดตัวให้หายใจเต็มที่ (ล้างปอด) 1 ครั้ง ต่อด้วยการหายใจเข้าทางจมูก-ปาก แบบตื้น-เร็ว-เบา 4-6 ครั้ง แล้วเป่าลมออกทางปาก 1 ครั้ง ทำไปเรื่อยๆ จนกว่ามดลูกจะคลายตัว หลังจากนั้นหายใจเต็มที่ (ล้างปอด) 1 ครั้ง แล้วหายใจตามปกติในระยะพัก

รูปแบบที่ 3 หายใจเพื่อเบ่งคลอด ใช้เมื่อปากมดลูกเปิดหมด และมีความรู้สึกอยากเบ่งคลอด

       วิธีปฏิบัติ เมื่อมดลูกบีบรัดตัวให้หายใจเต็มที่ (ล้างปอด) 1-2 ครั้งต่อด้วยการหายใจเข้าทางจมูกลึกๆ แล้วกลั้นหายใจพร้อมทั้งเบ่งลงไปทางช่องคลอดนาน 6-8 วินาที จึงหายใจออกทางปาก 1 ครั้ง ทำไปเรื่อยๆ จนกว่ามดลูกจะคลายตัว หลังจากนั้นหายใจเต็มที่ (ล้างปอด) 1 ครั้ง แล้วหายใจตามปกติในระยะพัก

เรียนรู้ระยะการคลอด

       หลังจากที่มดลูกหดรัดตัวเป็นจังหวะ ถี่และรุนแรง ปากมดลูกขยายตัว ถุงน้ำคร่ำถูกบีบรัดจนแตก เหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่า คุณแม่กำลังจะก้าวสู่ระยะคลอด ซึ่งแบ่งออกเป็น 3ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ระยะที่มดลูกหดรัดตัวอย่างสม่ำเสมอ

       ปากมดลูกที่ปิดสนิทจะค่อยๆ เปิดขยายออกจนกว้างเต็มที่ประมาณ 10 ซม. ซึ่งกว้างพอที่ศีรษะของทารกจะเคลื่อนผ่านตัวออกมา สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรกจะใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง ส่วนคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์แล้วจะใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง

       การเจ็บครรภ์ในระยะที่ 1 นี้ยังแบ่งออกเป็นระยะย่อยอีก 3 ระยะ โดยระยะแรกจะใช้เวลาประมาณ 5-8 ชั่วโมง ในระยะนี้อาการเจ็บยังไม่รุนแรงนัก ระยะถัดมาคุณแม่จะเจ็บถี่และรุนแรงขึ้น ใช้เวลาประมาณ 3-5 ชั่วโมง และระยะเบ่งคุณแม่จะรู้สึกเจ็บครรภ์รุนแรงมากที่สุด ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

ระยะที่ 2 ระยะคลอดลูก

       ในระยะนี้มดลูกจะหดตัวนานขึ้นและเกิดลมเบ่ง ซึ่งคุณแม่ต้องหายใจเข้ายาวและลึก จากนั้นให้คุณแม่กลั้นหายใจ ก้มหน้าคางชิดอก แล้วเบ่งลงก้นยาวๆ อย่างต่อเนื่อง ให้แรงเบ่งทั้งหมดพุ่งลงสู่ช่องคลอด กล้ามเนื้อช่องคลอดจะค่อยขยายออกตามแรงเบ่ง จากนั้นจะดันศีรษะของทารกให้เคลื่อนต่ำลงจนคลอดออกมาได้

ระยะที่ 3 ระยะคลอดรก

       หลังจากที่ลูกน้อยคลอดออกมาอย่างปลอดภัยแล้ว คุณแม่จะรู้สึกเจ็บน้อยลง การคลอดรกในระยะที่สามนี้จะใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที โดยคุณแม่จะรู้สึกอยากเบ่งอีกครั้ง เมื่อมดลูกหดรัดตัวรกจะถูกบีบออกมาจากช่องคลอด และคุณหมอจะช่วยทำคลอดรก หลังจากนั้นจะนำรกไปตรวจอย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีรกตกค้างอยู่ในช่องคลอด

       หลังคลอดแล้วคุณแม่จะมีน้ำคาวปลาสีแดงๆ ไหลออกมาจากช่องคลอดประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นจะค่อยๆ จางลงจนกลายเป็นสีชมพูอ่อนภายใน 1-2 สัปดาห์ ทั้งนี้ในช่วงหลังคลอด มดลูกอาจไม่สามารถหดรัดตัวได้ในทันที (เพราะมีการขยายตัวมาเป็นเวลานานถึง 9 เดือน) แพทย์จะฉีดยาเพื่อช่วยให้มดลูกหดรัดตัวได้ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้บีบขับรกให้ออกมาได้สะดวก เพราะหากมดลูกไม่สามารถหดรัดตัวได้ตามปกติ เช่น กล้ามเนื้อมดลูกหย่อนยาน เนื่องจากผ่านการคลอดหลายครั้ง มีรกตกค้างอยู่ในมดลูก หรือมีเนื้องอกของมดลูก อาจนำไปสู่ภาวะเสี่ยงเกิดการตกเลือดหลังคลอดได้


ขอขอบคุณภาพประกอบและบทความ : bumrungrad

Week 1-3 : สัปดาห์ที่ 1-3 ของการตั้งครรภ์
เซลล์ไข่เริ่มกลายเป็นตัวอ่อนและเจ...
2013-04-05

10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน
10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน (จากปากเรา)...
2013-06-10

การอาบน้ำเด็กทารกอย่างถูกวิธี
วันนี้เราเลยมีวิธีที่จะทำให้เด็กส...
2013-05-21

พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และของเล่นที่เหมาะสม
พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และข...
2013-07-02

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจขณะตั้งครรภ์
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ...
2013-04-25

Week 5 : สัปดาห์ที่ 5 ของการตั้งครรภ์
สัปดาห์นี้ ควรฝากครรภ์ได้แล้วนะ...
2013-03-29

9 วิธีเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์
คุณแม่ที่กำลังอยากจะมาบุตรต้องทำอ...
2013-06-28

การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ควรมองข้าม
การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่...
2013-04-05

น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง
น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง...
2013-04-29

Week 13 : สัปดาห์ที่ 13 ของการตั้งครรภ์
เต้านมของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น, ...
2013-03-29