ภาษาไทย
English

โรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์

ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์

     ภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตมารดา และทารกในท้อง ถ้าได้รับการดูแลที่ไม่ถูกต้อง ที่พบบ่อยๆ ได้แก่
 

๑. การคลื่นไส้อาเจียนอย่างมากระหว่างตั้งครรภ์

     อาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ จะพบได้ ๑ ใน ๓ ของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด มักจะเกิดระหว่างอายุครรภ์ ๖-๑๒ สัปดาห์ และจะหายไปเองภายหลังอายุครรภ์ ๑๒ สัปดาห์ แต่บางรายอาจเป็นนานกว่านั้นก็ได้

การป้องกันภาวะการแทรกซ้อนชนิดนี้ ควรกระทำโดยรีบปรึกษาแพทย์ เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าว เพื่อหาสาเหตุ และรับการรักษาอย่างถูกวิธี รวมทั้งป้องกันอาการแทรกซ้อนอันตรายอื่นๆ ที่จะตามมา
 

๒. การแท้ง

     การแท้งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์ พบประมาณร้อยละ ๑๐-๑๕ ของการตั้งครรภ์

     ส่วนใหญ่อาการเมื่อเริ่มจะแท้งจะมีเลือดออกทางช่องคลอด ในระยะแรกมักจะออกไม่มาก ต่อมาจะปวดท้องเป็นพักๆ คล้ายปวดประจำเดือน แต่มากกว่า อันตรายสำคัญของการแท้ง คือ การตกเลือด เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ ในรายที่ไปทำแท้งโดยผิดกฎหมายอาจพบอาการแทรกซ้อนได้มาก เนื่องจากมีการติดเชื้อ เช่น มีไข้สูง เลือดเป็นพิษ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ มดลูกทะลุ เนื้อเน่าตาย และบาดทะยัก เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตทั้งสิ้น บางรายอาจทำให้ท่อนำไข่ตันทั้งสองข้าง อันเป็นสาเหตุของการเป็นหมันในภายหลัง
 

๓. การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก

     การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก คือ ภาวะที่รกเปลี่ยนเป็นเม็ดใสๆ คล้ายเม็ดสาคู หรือไข่ปลาอุกรวมกันเป็นพวงคล้ายพวงองุ่นอยู่ภายในโพรงมดลูก ทำให้มดลูกมีขนาดโตอย่างรวดเร็ว ไม่ได้สัดส่วนกับระยะที่ขาดประจำเดือน มักมีอาการแพ้ท้องมากกว่าธรรมดา และอาจมีอาการของพิษแห่งครรภ์ร่วมด้วย เช่น บวม ความดันเลือดสูง และมีไข่ขาวในปัสสาวะ อาการที่สำคัญ ได้แก่ เลือดออกทางช่องคลอดกะปริบกะปรอย หรืออาจออกครั้งละมากๆ พร้อมกับมีเม็ดคล้ายเม็ดสาคูออกมาด้วย
 

๔. การตั้งครรภ์นอกมดลูก

     การตั้งครรภ์นอกมดลูก เกิดจากไข่ที่ผสมแล้วฝังตัว และเจริญเติบโตภายนอกโพรงมดลูก พบได้ประมาณร้อยละ ๐.๕-๑ ของการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่เกิดที่ท่อนำไข่

     สาเหตุเกิดจากเหตุต่างๆ ที่ทำให้ไข่ผสมแล้วเดินทางเข้าไปถึงโพรงมดลูกไม่ได้ หรือไปช้ากว่าธรรมดา จึงต้องฝังตัวก่อน เช่น การตีบของท่อนำไข่
 

๕. ภาวะพิษแห่งครรภ์

     ภาวะพิษแห่งครรภ์เป็นกลุ่มอาการผิดปกติประกอบด้วยอาการบวม ความดันเลือดสูง และมีไข่ขาวในปัสสาวะ มักเกิดในระยะท้ายของการตั้งครรภ์พบในครรภ์แรกมากกว่าในครรภ์หลัง

                 ภาวะนี้เป็นสาเหตุของการตายของแม่และทารก ถ้าไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง จะทำให้ผู้ตั้งครรภ์ชัก หลอดเลือดในสมองแตก และหัวใจวายได้
 

๖. รกเกาะต่ำ

     รกเกาะต่ำ หมายถึง การที่รกบางส่วน หรือทั้งหมด เกาะที่ตอนล่างของมดลูก ซึ่งในครรภ์ปกติแล้ว รกจะเกาะที่ผนังตอนบนของมดลูก ความผิดปกติชนิดนี้พบบ่อยขึ้นในหญิงมีครรภ์ที่มีอายุมาก และมีลูกแล้วหลายคน
 

๗. รกลอกตัวก่อนกำหนด

     ภาวะนี้มักพบร่วมกับผู้ที่มีภาวะพิษแห่งครรภ์ ซึ่งจะมีโอกาสพบได้มากกว่าปกติ ๓ เท่า นอกจากนี้อาจเกิดในรายที่ถูกกระทบกระแทกบริเวณหน้าท้องอย่างรุนแรง ภาวะแทรกซ้อนชนิดนี้ มักเกิดในระยะท้ายของการตั้งครรภ์

อาการขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของการลอกตัวของรก อาการที่สำคัญ คือ เลือดออกทางช่องคลอด และปวดท้อง ซึ่งอาจจะปวดเพียงเล็กน้อย หรือปวดมากจนหมดสติไป หน้าท้องจะแข็งตึง และกดเจ็บ มดลูกมักโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเลือดขังอยู่ภายใน ทารกอาจตายในท้องได้ ถ้าได้รับการช่วยเหลือไม่ทัน
 

๘. ครรภ์แฝด

     ครรภ์แฝด หมายถึง การตั้งครรภ์ที่มีทารกในครรภ์มากกว่า ๑ คนขึ้นไป อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งต่อแม่และทารก เช่น โลหิตจาง ภาวะพิษแห่งครรภ์ คลอดก่อนกำหนด และคลอดผิดปกติ ครรภ์แฝดอาจเกิดจากการผสมของไข่ใบเดียว หรือหลายใบก็ได้

     แฝดคู่อาจเกิดจากการผสมของไข่ ๒ ใบ หรือ ใบเดียวก็ได้

     แฝดคู่ที่เกิดจากไข่ ๒ ใบ มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์เป็นจำนวนมาก กล่าวคือ ถ้าทั้งพ่อและแม่มีประวัติทางกรรมพันธุ์ว่ามีครรภ์แฝด จะมีอัตราการเกิดครรภ์แฝดสูงขึ้น สองในสามของคู่แฝดที่คลอดจะเป็นเพศเดียวกัน

     แพทย์สามารถวินิจฉัยการตั้งครรภ์แฝดได้จากการตรวจครรภ์ โดยคลำส่วนต่างๆ ของทารกในท้อง เช่น ศีรษะ ก้น แขนขา ได้มากกว่าปกติ และฟังเสียงหัวใจทารกในท้องได้ชัดเจนมากกว่า ๑ ตำแหน่ง โดยมีอัตราการเต้นของหัวใจแตกต่างกันมากกว่า ๑๐ ครั้ง ต่อนาที ในกรณีที่ตรวจแล้วไม่แน่ใจ อาจอาศัยการตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพรังสี หรือการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
 

๙. ครรภ์แฝดน้ำ

     ในการตั้งครรภ์ปกติจะพบว่า มีน้ำหล่อทารกในครรภ์ หรือน้ำคร่ำประมาณ ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร ถ้ามีจำนวนน้ำคร่ำมากกว่า ๒,๐๐๐ ลูกบาศก์เซนติเมตรขึ้นไป ถือว่าเป็น ครรภ์แฝดน้ำ ซึ่งมักพบร่วมกับความผิดปกติบางอย่างของทารกในท้อง เช่น ความพิการแต่กำเนิดของระบบประสาท หรือการตีบตันของระบบทางเดินอาหารของทารก ครรภ์แฝด การติดเชื้อซิฟิลิส (syphilis) ภาวะพิษแห่งครรภ์ และมารดาเป็นเบาหวาน เป็นต้น

     อาการของครรภ์แฝดน้ำ คือ แม่ท้องโตเร็วผิดธรรมดา ไม่ได้สัดส่วนกับระยะเวลาที่ขาดประจำเดือน มักเป็นในระยะ ๗ เดือนขึ้นไป อาจเป็นอย่างทันทีทันใด หรือค่อยเป็นค่อยไปก็ได้
 

๑๐. ครรภ์เกินกำหนด

     โดยทั่วไป หมายถึง การตั้งครรภ์เกิน ๔๒ สัปดาห์ (ต้องจำวันที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายได้แม่นยำ และประจำเดือนต้องมาสม่ำเสมอด้วย)

 

     สาเหตุยังไม่ทราบแน่นอน ภาวะนี้มีผลเสีย คือ รกทำงานเลวลง ปริมาณน้ำคร่ำลดลง ทารกจะผอมผิวหนังเหี่ยวย่น มีเล็บยาว กะโหลกศีรษะแข็งขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลให้คลอดยาก และทารกมีภาวะขาดออกซิเจนได้ง่าย

   

ขอขอบคุณภาพประกอบและบทความ : siamhealth

Week 1-3 : สัปดาห์ที่ 1-3 ของการตั้งครรภ์
เซลล์ไข่เริ่มกลายเป็นตัวอ่อนและเจ...
2013-04-05

10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน
10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน (จากปากเรา)...
2013-06-10

การอาบน้ำเด็กทารกอย่างถูกวิธี
วันนี้เราเลยมีวิธีที่จะทำให้เด็กส...
2013-05-21

พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และของเล่นที่เหมาะสม
พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และข...
2013-07-02

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจขณะตั้งครรภ์
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ...
2013-04-25

Week 5 : สัปดาห์ที่ 5 ของการตั้งครรภ์
สัปดาห์นี้ ควรฝากครรภ์ได้แล้วนะ...
2013-03-29

9 วิธีเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์
คุณแม่ที่กำลังอยากจะมาบุตรต้องทำอ...
2013-06-28

การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ควรมองข้าม
การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่...
2013-04-05

น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง
น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง...
2013-04-29

Week 13 : สัปดาห์ที่ 13 ของการตั้งครรภ์
เต้านมของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น, ...
2013-03-29