ภาษาไทย
English

เลือดออกขณะตั้งครรภ์

ตั้งครรภ์

                เลือดออกตอนตั้งครรภ์เป็นหนึ่งในความผิดปกติที่คุณแม่กังวลมากที่สุด เพราะส่งผลตรงต่อการตั้งครรภ์และสุขภาพของลูกในครรภ์ สุขภาพแม่ท้องครั้งนี้เราจะมาเรียนรู้ถึงสาเหตุ รวมถึงการดูแลอาการดังกล่าวกัน

เลือดออกเพราะตั้งครรภ์

           แบ่งปัญหาได้ 2 ช่วง คือช่วงตั้งครรภ์อ่อน ๆ หรือในไตรมาสแรก และปัญหาที่เกิดหลังอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ไปแล้ว ซึ่งพบได้ร้อยละ 3-5 ของการคลอด

1.ช่วงไตรมาสแรก

           ช่วงนี้มักมีเลือดออกไม่มาก และอาจมีอาการปวดหน่วง บริเวณท้องน้อยร่วมด้วย อันเนื่องจากภาวะต่อไปนี้ได้

           แท้งคุกคาม คือการตั้งครรภ์ที่มีเลือดออกทางช่องคลอด ทั้งที่ปากมดลูกยังไม่เปิด พบได้บ่อยโดยจะมีอาการปวดท้องน้อย มีเลือดออกกะปริบกะปรอย อาการจะมากขึ้นเป็นลำดับกระทั่งตกเลือดมากได้ หากคุณแม่พบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอด ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดูตัวอ่อนในครรภ์ทันที

           ท้องลม คือการตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวเด็ก หรือเรียกว่าภาวะไข่ฝ่อ (Blighted ovum) ท้องลมเป็นความผิดปกติของการตั้งครรภ์ชนิดหนึ่ง ทำให้การตั้งครรภ์ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้จนถึงครบกำหนดคลอด โดยแพทย์จะตรวจแยกด้วยการตรวจภายในและอัลตราซาวนด์ เนื่องจากภาวะท้องลม สุดท้ายก็จะมีการแท้งเองตามธรรมชาติ

           ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ทารกมีความผิดปกติไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ เมื่อทารกเสียชีวิตก็จะมีอาการตามมา อาการเริ่มด้วยมีเลือดออก และปวดท้องเพราะการบีบตัวของมดลูก ที่สุดก็แท้ง

           ท้องนอกมดลูก มีอาการปวดท้องน้อยมาก อาจปวดร้าวขึ้นไปไหล่และหลัง เพราะเลือดที่ออกมาไปกดใต้กระบังลม นอกจากนี้อาจมีความดันต่ำ หัวใจเต้นเร็ว จนถึงขั้นช็อกได้ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นภาวะฉุกเฉิน จำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์เร็วที่สุด

2.ช่วงหลังอายุครรภ์ 28 สัปดาห์

           เลือดออกในช่วงนี้เรียกว่าการตกเลือดก่อนคลอด ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินของการตั้งครรภ์

           อาการทั่วไป จะปวดท้องเนื่องจากการหดรัดตัวของมดลูก หากเกิดในช่วงนี้ก็เสี่ยงที่ทารกจะคลอดก่อนกำหนด ตัวคุณแม่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งในการดูแลของแพทย์นั้น แพทย์จะตรวจเช็กลักษณะของเลือดที่ออก ดูอาการการปวดท้อง หรือการหดรัดตัวของมดลูก ดูควบคู่ไปกับประวัติของคุณแม่ เช่น เคยผ่าท้องทำคลอด มีรกเกาะต่ำ มีรกลอกก่อนกำหนดหรือไม่

           ฉะนั้น คุณแม่จึงต้องดูแลตัวเองและพบแพทย์เป็นประจำระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันปัญหาหรือภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทั้งหมด

ภาวะเสี่ยงอื่น ๆ

           นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสาเหตุที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่ที่มีสภาวะการตั้งครรภ์แตกต่างกัน ทั้งจากตัวคุณแม่เอง เช่น อายุความเจ็บป่วย และอื่น ๆ

1.รกเกาะต่ำ

           คือการที่รกเกาะที่ผนังมดลูกในตำแหน่งที่ตำกว่าปกติ หรืออยู่ตรงส่วนล่างของผนังมดลูก ซึ่งใกล้กับปากมดลูกหรือคลุมปากมดลูก ทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดตั้งแต่ปริมาณน้อยๆ กระทั่งมากจนอันตรายต่อคุณแม่และลูกได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที โดยเฉพาะเมื่อมีการหดรัดตัวของมดลูก ทำให้ปากมดลูกเปิดและตกเลือดได้

           ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบความเสี่ยงในคุณแม่อายุมาก มีการคลอดบุตรหลายคน มีประวัติขูดมดลูกหรือผ่าท้องคลอดมาก่อน เป็นต้น

           อาการสงสัยรกเกาะต่ำถ้ามีเลือดสีสด ๆ ออกทางช่องคลอดในขณะที่ไม่มีอาการเจ็บท้อง แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อดูตำแหน่งรกเกาะ ซึ่งวิธีดูแลคือการนอนพักมากๆ หลีกเลี่ยงการเดินหรือทำงานหนัก งดเพศสัมพันธ์ งดการสวนล้างช่องคลอดหรือสวนทวารทุกชนิด หากมีเลือดออกผิดปกติหรือเจ็บท้อง ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที เมื่อครรภ์ครบกำหนดถ้ายังตรวจพบรกเกาะต่ำอยู่ แพทย์จะพิจารณาให้คลอดบุตรด้วยการผ่าตัด

2.รกลอกตัวก่อนกำหนด

           คือภาวะที่มีการลอกตัวของรกจากตำแหน่งที่เกาะอยู่กับผนังมดลูก ทำให้มีเลือดออกและมีก้อนเลือดใต้รก ซึ่งขัดขวางการนำสารอาหารและออกซิเจนจากแม่มาให้ลูก ส่งผลทำให้เกิดการปวดท้อง เจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด หรือรุนแรงจนทารกเสียชีวิตในครรภ์จากการขาดออกซิเจนได้

           มีโอกาสพบมากในคุณแม่ที่ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ทารกมีสายสะดือสั้นผิดปกติ กรณีรกเกาะที่มดลูกตำแหน่งที่มีเนื้องอก ภาวะครรภ์แฝดน้ำแล้วมีการแตกของถุงน้ำคร่ำอย่างรวดเร็ว คุณแม่มีประวัติสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา มีรกลอกตัวก่อนกำหนดในครรภ์ที่แล้ว ตั้งครรภ์คลอดบุตรหลายคน หรือหลังจากมีการบาดเจ็บ กระแทกรุนแรงบริเวณหน้าท้อง เป็นต้น

           อาการสงสัยรกลอกตัวก่อนกำหนด : ปวดท้อง กดเจ็บที่มดลูก มีการแข็งตัวและหดรัดตัวของมดลูก ยอดมดลูกสูงกว่าอายุครรภ์ มีเลือดออกผิดปกติซึ่งอาจออกเยอะหรือน้อยก็ได้ และอาจพบการเต้นของหัวใจทารกผิดปกติหรือลูกดิ้นน้อยลงได้

           การรักษาแพทย์จะพิจารณาให้ทำการคลอดบุตร เพราะถ้ารกลอกตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ลูกอาจขาดออกซิเจนและคุณแม่มีอาการตกเลือดได้

3.มดลูกแตก

           คือการฉีกขาดของผนังมดลูก มักเกิดจากการผ่าท้องคลอดหรือผ่าตัดเนื้องอกมดลูกมาก่อน หากคลอดยากต้องใช้คีมช่วยคลอด ในกรณีลูกตัวใหญ่มากหรือคลอดติดขัด เคยคลอดบุตรหลายคน มีการบาดเจ็บช่องท้องรุนแรง หรือได้รับยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก เป็นต้น

           อาการสงสัยมดลูกแตกปวดท้อง และอาจมีเลือดออกด้วย โดยแพทย์จะตรวจพบส่วนที่ผิดปกติของทารกได้ชัดเจน การรักษาคือต้องรีบผ่าตัดคลอดด่วน

4.เส้นเลือดของสายสะดือแตก

           มักพบในกรณีที่มีรกเกาะต่ำ มีรกน้อย ครรภ์แฝด เป็นต้น


           อาการสงสัยเส้นเลือดของสายสะดือแตก : คุณแม่จะมีเลือดออกทางช่องคลอด ตรวจภายในคลำพบเส้นเลือดเต้นเป็นจังหวะ กรณีที่มีเลือดออกมาอาจทำให้ลูกในท้องขาดเลือดและออกซิเจนได้ ซึ่งเมื่อตรวจพบคุณหมอก็จะแนะนำให้ผ่าท้องคลอดเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูก

เลือดออกไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์

           1.การมีติ่งเนื้อที่ปากมดลูกหรือมีการอักเสบของปากมดลูก มักมีเลือดออกไม่มาก ไม่ปวดท้อง ตรวจพบจากการตรวจภายใน ซึ่งคุณหมอสามารถบิดตัวติ่งเนื้อออกทางช่องคลอดได้เลย โดยไม่ต้องดมยาสลบและ ไม่เจ็บ แต่ถ้ามีการอักเสบก็สามารถกินยาปฏิชีวนะที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ได้

           2.การอักเสบติดเชื้อของช่องคลอดหรือปากช่องคลอด คุณแม่มักจะมีตกขาว ซึ่งอาจมีอาการคันหรือมีกลิ่นร่วมด้วย สามารถรักษาด้วยการเหน็บยาทางช่องคลอด และทาครีมบริเวณปากช่องคลอดถ้ามีอาการคัน แต่โดยทั่วไปจะเลือกเป็นยาเหน็บซึ่งปลอดภัยสำหรับลูกในท้อง

           3.การมีแผลฉีกขาดที่ปากมดลูกหรือผนังช่องคลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการบาดเจ็บหลังร่วมเพศ พบได้บ่อยแต่ไม่เป็นอันตราย แผลเหล่านี้จะหายได้เองภายในหนึ่งสัปดาห์ เพราะบริเวณจุดซ่อนเร้นของเรามีเลือดมาล่อเลี้ยงเยอะนั่นเอง

           4.การแตกของเส้นเลือดขอดที่ช่องคลอดหรือปากช่องคลอดที่พบขณะตั้งครรภ์ พบได้ไม่บ่อย และบางคนอาจมีอาการปวดร่วมด้วย

           5.มะเร็งปากมดลูก ถ้าคุณแม่ตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว จะยิ่งพบได้น้อย แต่ถ้ายังไม่เคยตรวจแนะนำให้ตรวจตั้งแต่ตั้งครรภ์อ่อน ๆ เพื่อประเมินก่อนว่าไม่มีมะเร็งปากมดลูกซ่อนอยู่

           6.ผู้ป่วยที่มีโรคเลือด ทำให้มีเลือดออกผิดปกติ หรือเป็นโรคไข้เลือดออกช่วงที่เกร็ดเลือดต่ำ ซึ่งต้องปรึกษาคุณหมอทางอายุรกกรรมให้คอยดูแลรักษา เลือดก็จะหยุดเมื่อตัวโรคควบคุมได้

           จริง ๆ แล้วปัญหาเลือดออกนั้นมีสาเหตุซ่อนอยู่มากมาย และการดูแลก็แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อคุณแม่มีเลือดออก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุให้เร็วที่สุด จะได้ดูแลรักษาถูกต้อง

ขอขอบคุณภาพประกอบและบทความ : baby.kapook

Week 1-3 : สัปดาห์ที่ 1-3 ของการตั้งครรภ์
เซลล์ไข่เริ่มกลายเป็นตัวอ่อนและเจ...
2013-04-05

10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน
10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน (จากปากเรา)...
2013-06-10

การอาบน้ำเด็กทารกอย่างถูกวิธี
วันนี้เราเลยมีวิธีที่จะทำให้เด็กส...
2013-05-21

พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และของเล่นที่เหมาะสม
พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และข...
2013-07-02

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจขณะตั้งครรภ์
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ...
2013-04-25

Week 5 : สัปดาห์ที่ 5 ของการตั้งครรภ์
สัปดาห์นี้ ควรฝากครรภ์ได้แล้วนะ...
2013-03-29

9 วิธีเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์
คุณแม่ที่กำลังอยากจะมาบุตรต้องทำอ...
2013-06-28

การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ควรมองข้าม
การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่...
2013-04-05

น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง
น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง...
2013-04-29

Week 13 : สัปดาห์ที่ 13 ของการตั้งครรภ์
เต้านมของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น, ...
2013-03-29