ภาษาไทย
English

พ่อแม่ยุคนี้ ...เผลอลืมอะไร (modernmom)


         จากรายงานการสำรวจพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม จริยธรรมของเด็กอายุ 1-14 ปี ซึ่งดำเนินงานโดยแผนงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข มีข้อมูลที่พ่อแม่อาจต้องหันมามองว่าได้ลืมช่วยลูกให้เรียนรู้เรื่องที่ สำคัญไปเรื่องหนึ่ง คือความรู้สึกเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น ผลการสำรวจครั้งนี้เสนอส่วนที่ควรพัฒนา ในเด็กอายุ 1-5 ปี คือการทำตามระเบียบและความเห็นใจผู้อื่น ในเด็กอายุ 6-9 ปี ด้านความเมตตาและการควบคุมอารมณ์ ในเด็กอายุ 10-14 ปี ด้านความคิดวิเคราะห์ ตระหนักรู้ในตน ความเห็นใจผู้อื่นและคุณธรรมจริยธรรม

          ในทุกช่วงอายุมีข้อเสนอว่า ควรพัฒนาเรื่องความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แสดงว่าเป็นส่วนที่เด็กไทยเริ่มสะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่ได้รับการเรียนรู้ให้ รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ตัวอย่างของการสำรวจ ในช่วงอายุ 1-5 ปีถามเรื่องความสามารถของเด็กที่จะรับรู้ถึงอารมณ์หรือความรู้สึกของคนอื่น กังวลสงสารเวลาเห็นคนเจ็บปวด อายุ 6-9 ปีถามเรื่องชอบช่วยเหลือผู้อื่น รู้จักแบ่งปัน ไม่รังแกสัตว์ ในเด็กอายุ 10-14 ปีถามเรื่อง เล่นขี้โกงเมื่อมีโอกาส หยิบเงินพ่อแม่หรือผู้อื่น หยิบของในร้านค้า และลอกข้อสอบถ้าจำเป็น ซึ่งพบว่าเด็กยอมรับการลอกข้อสอบเมื่อจำเป็นเพิ่มมากขึ้น

          "ทำไม พ่อแม่ต้องสนใจที่จะสอนลูกเรียนรู้เรื่องความเห็นอกเห็นใจ เป็นธรรมชาติของเด็กแต่ละคนที่จะมีคุณลักษณะนี้เองไหม ถ้าไม่สอนจะเกิดอะไรขึ้นกับลูก สอนแค่เรื่องรู้จักตนเอง มีความสามารถในการดูแลตนเองไม่พอหรือ" 

family 
          ถ้าพ่อแม่กำลังตั้งคำถามเหล่านี้กับตัวเอง ลองมาตอบไปพร้อมกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงอะไร และเมื่อทำการสำรวจครั้งต่อไปข้อมูลยังแสดงว่าเด็กไทยมีปัญหาเรื่องการพัฒนา ความสามารถในการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเพิ่มมากขึ้น


ความ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น 

          เป็นความสามารถที่เด็กจะเข้าใจความรู้สึกของบุคคลอื่น รู้สึกได้ว่าเราจะรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์เช่นนั้น และจะพัฒนาจนสามารถรู้ได้ว่าตนเองรู้สึกอย่างไร คนอื่นจะรู้สึกอย่างไร และยอมรับความรู้สึกของคนอื่นที่อาจแตกต่างไปจากที่เราคิด เป็นความสามารถที่จะเข้าใจโลกในมุมของคนอื่น อยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยความเข้าใจ เด็กที่มีความสามารถเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นเด็กที่มักประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตที่โรงเรียนและสามารถเข้าใจ สถานการณ์ทางสังคม พบว่าเด็กส่วนหนึ่งพัฒนาความเป็นผู้นำที่ดีจากความรู้สึกนี้ เด็กที่ขาดทักษะนี้จะพัฒนาเป็นบุคคลที่ไม่เข้าใจกติกาทางสังคม ต่อต้าน สนใจแต่เรื่องของตนเอง ขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างการเรียนรู้นี้ให้กับเด็ก ซึ่งสังเกตได้ตั้งแต่วัยทารกว่าเด็กมีการรับรู้และมีปฎิกิริยาต่ออารมณ์ความ รู้สึกของบุคคลอื่น และเป็นความสามารถที่เกิดจากการเรียนรู้มากกว่าเกิดขึ้นเองจากปัจจัยภายใน หรือลักษณะของตัวเด็ก พ่อแม่จึงเป็นคนสำคัญที่สอนลูกให้เรียนรู้การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

          ความเห็นใจผู้อื่นเกิดตั้งแต่วัยเด็กเล็ก เด็กอายุ 2-3 ขวบที่เห็นแม่ร้องไห้จะยื่นตุ๊กตาตัวโปรดของเขาให้แม่กอด ซึ่งแสดงว่าเด็กรับรู้และเชื่อมโยงตนเองกับความรู้สึกของคนอื่น เขาอาจไม่เข้าใจว่าทำไมแม่ร้องไห้ แต่เขารู้ว่าเกิดความรู้สึกไม่สบายขึ้น และเขายื่นตุ๊กตาที่เขาคิดว่าช่วยเขาได้ให้กับแม่ เด็กที่โตขึ้น 4-5 ขวบจะสามารถเชื่อมโยงความรู้สึกของตนเองกับคนอื่น เช่น เขาเห็นเพื่อนแสดงอาการปวดท้อง เด็กอีกคนจะเข้ามาพยายามดูแล เขาจะลูบท้องให้เพื่อน รู้สึกเหมือนเขาปวดท้องไปด้วย เขาสามารถเรียนรู้ว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างไร ถ้าสิ่งนั้นเกิดกับเขาแบบเดียวกัน เขาจะเริ่มเข้าใจการเปรียบเทียบให้เห็นว่าถ้ามีคนเอาของเล่นเขาไป เขารู้สึกอย่างไร ถ้าเพื่อนถูกเอาของเล่นไป เพื่อนจะรู้สึกอย่างไร

          ในขณะที่สถานการณ์ทางสังคมมุ่งไปที่การแข่งขัน ความสำเร็จเกิดจากความแข็งแกร่งที่จะต่อสู้ชนะคนอื่น เด็กๆ เติบโตกับบรรยากาศที่สอนเรื่องตัวเอง และการเอาตัวรอด ยิ่งเปิดประเทศสู่สนามนานาชาติ ยิ่งต้องพัฒนาคุณสมบัติด้านศักยภาพมากขึ้น ความเก่งและความสำเร็จวัดกันที่ตัวบุคคล ผู้ใหญ่สร้างตัวแบบการสนใจนลตนเองและความสำเร็จของตัวเราที่ละเลยคนอื่น ละเลยธรรมชาติ เด็กที่เห็นต้นแบบเช่นนี้จะละเลยเรื่องอารมณ์ความรู้สึก และเริ่มสัมพันธ์กับคนอื่นด้วยความก้าวร้าว เราอยากให้คนอื่นเห็นใจเรา เราก็ต้องสอนลูกให้รู้จักเห็นใจคนอื่น แม้ความเข้าใจเห็นใจผู้อื่นจะเริ่มมาตั้งแต่วัยเด็กเล็ก แต่พ่อแม่สามารถเริ่มต้นสร้างการเรียนรู้ที่จะเข้าใจเห็นใจผู้อื่นได้กับลูก ทุกวัย


สอนให้ลูกรับรู้ความรู้สึก

          เด็กสามารถรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นได้ การใช้เรื่องเล่า นิทานที่ทำให้เด็กได้รับรู้ความรู้สึก เด็กจะเชื่อมโยงเรื่องความรู้สึกได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งในสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตรงหน้า ถ้าพ่อแม่แสดงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ เด็กจะเรียนรู้อย่างรวดเร็ว เด็กไม่ได้เรียนรู้ความรู้สึกด้วยการสอนแบบตำหนิ หรือสั่งให้รู้สึก เช่น ทำไมลูกแย่อย่างนี้ ไม่แบ่งของให้น้องเล่นเลย คำพูดแบบนี้กลับไปปิดกั้นการทำความเข้าใจความรู้สึกคนอื่นของลูก และพัฒนาเป็นความก้าวร้าว การจัดการที่ยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นของเด็ก การช่วยให้เขาเข้าใจความรู้สึกของน้อง จะทำให้เด็กมีทางเลือกที่ดีกว่า


สอนลูกให้เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น

          ความเห็นใจเกิดจากความเข้าใจความรู้สึกคนอื่น ที่เกิดจาก 3 ปัจจัย ประกอบด้วยความรู้สึกเป็นสุขใจของตัวเรา ความเข้มแข็งทางจิตใจและความสามารถที่จะมองความขัดแย้ง ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกมีปัญหากับเพื่อน ถ้าลูกได้รับการฝึกที่ดี ลูกจะเริ่มจากความเข้าใจว่าเราเป็นสุขเวลาที่เพื่อนเล่นหรือพูดคุยกับเรา เพื่อนจะเป็นสุขถ้าได้รับสิ่งเดียวกัน ด้วยความเข้มแข็งทางใจของลูกที่ได้รับจากการดูแลเอาใจใส่และความภาคภูมิใจใน ตัวเอง ลูกจะเห็นว่าเพื่อนอาจจะไม่ได้เก่งเหมือนเขาทำให้เพื่อนมีปฏิกิริยาต่างไป จากลูก ลูกจะมองความขัดแย้งด้วยความเข้าใจมากขึ้นและมองการแก้ปัญหากับเพื่อนด้วย วิธีที่ยอมรับซึ่งกันและกัน และนำไปสู่ความสามารถในการจัดการสถานการณ์ขัดแย้งได้ดี แทนที่จะโกรธ โมโห หรือกดดันวุ่นวายใจกับปัญหาเรื่องเพื่อน


สอนให้ลูกรู้จักให้คนอื่น

          การแบ่งปันให้คนอื่นเป็นการเริ่มต้นที่เด็กจะสัมผัสการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รวมทั้งการที่เด็กดูแลเอาใจใส่สัตว์เลี้ยง ไปร่วมกิจกรรมที่เป็นการทำแบบจิตอาสา หรือแม้แต่การรู้ว่าเขาสามารถปลอบใจ ให้กำลังใจคนอื่น ในเวลาที่มีใครป่วย ไม่สบาย หรือไม่สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ เขาสามารถเป็นผู้ช่วยเหลือคนอื่นได้ เวลาเขาทำให้คนอื่น เขาจะสัมผัสได้ว่าถ้าเป็นเขาเป็นคนที่ขาดแคลน เจ็บป่วย ไม่สบาย เขาจะรู้สึกอย่างไร


เปิดโอกาสให้ลูกได้คิดถึงความรู้สึกคนอื่น

          จากการพูดคุยถึงสถานการณ์ที่เกิดรอบตัว หรืออ่านหนังสือด้วยกัน เป็นการแลกเปลี่ยนวิธีคิดที่จะปลูกฝังให้เด็กมีมุมมองที่จะมองจากมุมของคน อื่นบ้าง เช่น ความเข้าใจผิดเวลาเราตัดสินคนอื่นจากภายนอก ถ้าเราเป็นเขาที่ถูกคนอื่นมองอย่างเข้าใจผิด ถ้าเรามีรูปร่างที่ต่างจากคนอื่นด้วยความพิการหรือถูกล้อเลียน ถ้าคนอื่นหยิบเอาของของเราไป หรือถ้าเราเหนื่อยมาก มีใครซักคนเข้ามาช่วยเราเรารู้สึกอย่างไร เรื่องเล่า การอ่าน และการพูดคุยแบบนี้สร้างภาพและความทรงจำที่เด็กรู้สึกได้อย่างลึกซึ้ง

          ชื่นชมความมีน้ำใจของลูก ความเห็นใจผู้อื่นไม่ได้เกิดจากการตำหนิ ต่อว่า แต่เกิดจากความตั้งใจที่เราจะแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่ใช่ว่าใคร ๆ ก็เห็นแก่ตัว ให้คนอื่นให้ก่อนแล้วเราถึงจะให้ได้ พ่อแม่ควรชื่นชมการแสดงออกของเด็กทันที เช่น "พ่อหายเหนื่อยเลย เห็นลูกช่วยกันคลุกข้าวให้เจ้าตูบ" "ดูคุณย่าสิ ยิ้มแก้มปริเลยที่หนูไปอยู่เป็นเพื่อน" การส่งสัญญาณแบบนี้จะทำให้ลูกเชื่อมั่นในการทำสิ่งที่ควรทำ

          สุดท้ายคงไม่มีอะไรที่มีพลังมากไปกว่าการแสดงออกของพ่อแม่เองที่เป็นต้นแบบของ ความเข้าใจเห็นใจกันในครอบครัว และแสดงออกให้เห็นในสถานการณ์ที่ใช้ชีวิตในสังคม อย่าลืมว่าความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเกิดจากการเรียนรู้ที่พ่อแม่สร้างให้เกิด ขึ้น ให้เป็นของขวัญกับลูก ให้ลูกมีอารมณ์ความรู้สึกที่ดีจากภายใน สามารถเผชิญสถานการณ์ภายนอกด้วยทางเลือกที่ดี และมีความรู้สึกที่ดีต่อโลกที่อยู่รอบตัวเขาด้วยตัวเขาเองที่หยิบยื่นสิ่ง ที่ดี ๆ ให้กับสังคม

ขอขอบคุณภาพประกอบและบทความ : โดย: พญ.พรรณพิมล วิปุลากร

Week 1-3 : สัปดาห์ที่ 1-3 ของการตั้งครรภ์
เซลล์ไข่เริ่มกลายเป็นตัวอ่อนและเจ...
2013-04-05

10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน
10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน (จากปากเรา)...
2013-06-10

การอาบน้ำเด็กทารกอย่างถูกวิธี
วันนี้เราเลยมีวิธีที่จะทำให้เด็กส...
2013-05-21

พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และของเล่นที่เหมาะสม
พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และข...
2013-07-02

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจขณะตั้งครรภ์
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ...
2013-04-25

Week 5 : สัปดาห์ที่ 5 ของการตั้งครรภ์
สัปดาห์นี้ ควรฝากครรภ์ได้แล้วนะ...
2013-03-29

9 วิธีเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์
คุณแม่ที่กำลังอยากจะมาบุตรต้องทำอ...
2013-06-28

การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ควรมองข้าม
การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่...
2013-04-05

น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง
น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง...
2013-04-29

Week 13 : สัปดาห์ที่ 13 ของการตั้งครรภ์
เต้านมของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น, ...
2013-03-29