ภาษาไทย
English

รับมือเด็กน้อย “นักกัด” !?!

          ถาม: ดิฉันเป็นครูที่ทำงานอยู่ในเนอร์สเซอรี่มานานกว่า 5 ปี ดูแลเด็กช่วงเตรียมอนุบาลอายุ ระหว่าง 1 ขวบครึ่งถึง 2 ขวบครึ่ง  ทุกๆ ปีต้องมีเด็กอย่างน้อย 1 – 2 คนกัดเพื่อนเป็นประจำ ที่ผ่านมา ดิฉันและครูพี่เลี้ยงใช้ทั้งไม้อ่อน ไม้แข็ง ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง จึงอยากถามคุณหมอว่าทำไมเด็กต้องกัดเพื่อนด้วย และเราควรดูแลเขาอย่างไรดีคะ (ทั้งป้องกันไม่ให้กัดและแก้ไขในรายที่ชอบกัดเพื่อนเป็นประจำค่ะ)

 

          เรื่องที่เด็กกัดเพื่อนจัดเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับคุณครูและพี่เลี้ยงในศูนย์เด็กเล็ก หรือเนอร์สเซอรี่เลยค่ะ เพราะต้องรับมือกับเรื่องนี้กันทุกปี  พ่อแม่เองก็ไม่อยากให้ลูกเป็น “อันตราย” สำหรับเด็กคนอื่น แต่สิ่งที่พ่อแม่ (ที่ทำงานและจำเป็นต้องฝากลูกไว้ในเนอร์เซอรี่) ไม่อยากประสบพบเจอมากที่สุด คือ หากเด็กคนไหนเป็น “นักกัดขาประจำ”  อาจถูกเชิญให้ออกจากเนอร์เซอรี่ได้


         ถ้าอย่างนั้น ทำไมเด็กวัยเตาะแตะจึง “กัด” ล่ะ 
เชื่อหรือไม่ว่าการกัดเป็น “พัฒนาการตามวัย” ที่พบได้สำหรับเด็กวัยนี้  (ทั้งทารกและเด็กวัยเตาะแตะ)และสาเหตุที่พวกเขา “กัด” เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ฟันขึ้น สำรวจของเล่นชิ้นใหม่ด้วยการเอาของเข้าปาก  และเมื่อสามารถเชื่อมโยง “เหตุ” และ “ผล” ได้ เขาก็กัดเพื่อดูปฏิกิริยาตอบสนองของผู้ใหญ่ 

         นอกจากนี้ เด็กยังใช้ “การกัด” เพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือเพื่อแสดงความรู้สึกของตนเอง  เวลาที่รู้สึก “สับสน” “โกรธ” หรือ “กลัว”  เพราะเขายังสื่อสารผ่านคำพูดออกมาได้ไม่ดีนัก  ทำให้ “พูดไม่ออก บอกไม่ถูก”  พวกเขาจึงเลือกที่จะกัด เพื่อสื่อว่า “สนใจหนูหน่อยสิ” หรือ “หนูไม่ชอบนะ”

         เด็กมักกัดคนอื่นบ่อยช่วงอายุ 1 – 2 ขวบ และพบในเด็กผู้ชายบ่อยกว่าเด็กผู้หญิง (เล็กน้อย) เมื่อทักษะภาษาของเด็กพัฒนาขึ้น ทำให้เขาแก้ปัญหาผ่านการพูด-บอกได้ดีขึ้น เด็กก็จะกัดน้อยลง

คุณครูและผู้ใหญ่ทุกคนที่ดูแลเด็กสามารถป้องกันปัญหาดังกล่าวได้โดย

  • กำหนดกฎกติกา ในเนอร์เซอรี่ควรมีกฎที่ชัดเจนว่า “ไม่กัด” และยึดถือตามกฎนั้นตลอดเวลา
  • ให้แรงเสริมเชิงบวก แสดงความสนใจเวลาที่เด็กแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม แทนการให้ความสนใจการกระทำที่ไม่เหมาะสมของเขา เป็นการป้องกันเบื้องต้น เพราะเด็กมีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่สนใจ
  • วางแผนไว้ล่วงหน้า เพราะเด็กวัยเตาะแตะจะรู้สึกสบายใจหากรู้ว่าผู้ใหญ่คาดหวังให้เขาทำอะไร อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีสถานการณ์ใหม่ๆ หรือน่าตื่นเต้น ในกรณีที่เด็กกัดเพื่อน คุณควรบอกให้เขารู้ว่าคุณคาดหวังว่าวันพรุ่งนี้ควรเป็นอย่างไร (เช่น ไม่กัดเพื่อน)
  • มีทางออกให้ ฝึกฝนเขาให้รู้ว่าควรพูดหรือบอกอย่างไรเวลาไม่พอใจหรือต้องการให้คนอื่นสนใจ เช่น “หนูโกรธแล้วนะ” “ยังเล่นไม่เสร็จ” หรือ “คุณครูขา” หากเด็กรู้ว่าควรพูดอย่างไรจะช่วยให้เขาสงบลงกว่าเดิมเวลาที่เกิดอารมณ์เชิงลบ

 

         หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็มีแนวทางในการรับมือเมื่อเกิดเหตุ “เด็กกัดเพื่อน” โดยต้องทำทันทีที่เด็กกัด เริ่มจากแยกเขาจาก “คนที่ถูกกัด” แล้วทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ค่ะ

  • แสดงความสนใจคนที่ถูกกัดก่อน ด้วยการปลอบโยนให้เขาสบายใจ  รวมถึงปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการล้างแผลที่ถูกกัด ด้วยสบู่อ่อนและน้ำสะอาด แล้วประคบด้วยน้ำแข็ง  เพราะหากคุณครู หรือพ่อแม่แสดงความสนใจเด็กที่ทำผิดก่อน  เช่น ดุ ต่อว่า จะกลายเป็นแรงเสริมให้เขายังทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนี้ต่อไป
  • สงบและหนักแน่น บอกเด็กด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น (แต่ไม่ตวาด) ว่า “ไม่กัด” หรือ “กัดทำให้คนอื่นเจ็บ”  สำหรับเด็กวัยนี้ ควรพูดสั้นๆ กระชับ ไม่อธิบายยืดยาว เพื่อบอกให้เขารู้ว่าการกัดเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ นอกจากนี้ท่าทีที่ดูสงบของผู้ใหญ่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • หากจำเป็น อาจต้องปลอบโยน “คนกัด” เด็กวัยนี้ยังไม่รู้ว่าเขาทำให้เพื่อนเจ็บ และอาจหัวเสียเมื่อรู้ว่าเขาทำผิด หากเป็นอย่างนั้น ควรปลอบประโลมให้เขาสบายใจ
  • เสนอทางออก เมื่อเหตุการณ์สงบลง ผู้ใหญ่ทั้งคุณครูและพ่อแม่ควรนำเสนอทางเลือกอื่นแทนการกัด เช่น  พูดว่า “ไม่นะ” “นี่ของหนูนะ” “หยุดเดี๋ยวนี้นะ”
  • เบี่ยงเบน หากเด็กยังอารมณ์ไม่ดี หรือเริ่มเบื่อ การเบี่ยงเบนยังใช้ได้ผลดีในเด็กวัยนี้ โดยชวนให้เขาไปทำอย่างอื่น เช่น ระบายสี เล่นของเล่น
  • ไม่ควรลงโทษ หรือใช้ “ไม้แข็ง” เพราะนอกจากการกัดจะพบได้บ่อยในเด็กวัยนี้แล้ว เขาไม่ได้เจตนาทำร้ายใคร แต่หากลองทำตามขั้นตอนเบื้องต้นแล้วยังไม่ได้ผล อาจใช้วิธี “Time out” โดยจับให้เขานั่งเก้าอี้แยกออกไปจนกว่าจะสงบลงได้ (ประมาณ 1 – 2 นาที)

         อย่าลืมว่า “พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม” อาจเป็นเรื่องที่พบได้ปกติในบางวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยเตาะแตะ วัยรุ่น หรือวัยไหนๆ ก็ตาม การเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และฝึกฝนที่จะรับมือและดูแลเขาเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับผู้ใหญ่ทุกคนที่ดูแลเด็กค่ะ 

ขอขอบคุณภาพประกอบและบทความ : real-parenting

Week 1-3 : สัปดาห์ที่ 1-3 ของการตั้งครรภ์
เซลล์ไข่เริ่มกลายเป็นตัวอ่อนและเจ...
2013-04-05

10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน
10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน (จากปากเรา)...
2013-06-10

การอาบน้ำเด็กทารกอย่างถูกวิธี
วันนี้เราเลยมีวิธีที่จะทำให้เด็กส...
2013-05-21

พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และของเล่นที่เหมาะสม
พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และข...
2013-07-02

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจขณะตั้งครรภ์
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ...
2013-04-25

Week 5 : สัปดาห์ที่ 5 ของการตั้งครรภ์
สัปดาห์นี้ ควรฝากครรภ์ได้แล้วนะ...
2013-03-29

9 วิธีเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์
คุณแม่ที่กำลังอยากจะมาบุตรต้องทำอ...
2013-06-28

การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ควรมองข้าม
การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่...
2013-04-05

น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง
น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง...
2013-04-29

Week 13 : สัปดาห์ที่ 13 ของการตั้งครรภ์
เต้านมของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น, ...
2013-03-29