ภาษาไทย
English

 

 

 

โลกแห่งจินตนาการของเด็ก
     คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมีลูกที่อยู่ในวัยเตรียมอนุบาล จะเห็นว่าเด็กวัยนี้ ชอบที่จะ...

      โลกแห่งจินตนาการของเด็ก

      คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมีลูกที่อยู่ในวัยเตรียมอนุบาล จะเห็นว่าเด็กวัยนี้ ชอบที่จะอยู่ในโลกแห่งจินตนาการของตนเอง เช่น อาจจะเล่นสมมุติว่า ตนเองเป็นหมอ ทำท่าทางตรวจคุณตาคุณยายอย่างแข็งขัน หรือ เอาชุดอุลตราแมนมาใส่ แล้วทำท่าทางเตะต่อย เหมือนกับที่เขาเห็นในทีวี ส่วนเด็กผู้หญิงก็อาจจะเอาตุ๊กตาหมีมากอด ทำท่าป้อนนมให้ เปลี่ยนผ้าอ้อม เหมือนกับเป็นคุณแม่ที่กำลังเลี้ยงลูก บางคนอาจจะเล่นทำกับข้าว ยกจานมาเสริฟ คุณพ่อคุณแม่ และบอกคุณแม่ว่า ระวังนะคะ ข้าวผัดกำลังร้อนๆ ลองชิมดูซิคะ (ทำเสียง และท่าทางเหมือนคุณแม่เปี๊ยบเลย)

     ซึ่งพฤติกรรมการเล่นสมมุติของลูกนี้ อาจจะเริ่มเห็นได้ ตั้งแต่ในช่วงอายุ 1-2 ปีแล้ว เช่น เด็กอาจทำท่าเอาช้อนเปล่าป้อนข้าวตนเอง และทำท่าทางอร่อย แต่จะเป็นช่วงวัยเตรียมอนุบาลนี้เอง ที่การเล่นสมมุติ หรือการสร้างจินตนาการ จะเกิดขึ้นอย่างมากที่สุด

     องค์ประกอบที่สำคัญ ในการเล่นสมมุติ หรือการสร้างจินตนาการ จะประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

    1. Props คือ วัตถุ หรือวัสดุที่ใช้ประกอบฉาก เช่น ถ้วยกาแฟ เด็กอาจจะเล่นสมมุติว่ากำลังดื่มกาแฟจากถ้วยจริงๆ เหมือนคุณพ่อ หรืออาจจะทำมือแกล้งทำเป็นถือถ้วยดื่มกาแฟ (ทั้งๆ ที่ไม่มีถ้วย)

    2. Plot ส่วนใหญ่ในการเล่นสมมุติของเด็ก มักจะมีการสร้าง story line  เป็นเค้าโครงเรื่องอย่างง่ายๆ ซึ่งมักจะเป็นการเลียนแบบที่เด็กเห็นอยู่ทุกๆวัน รอบๆตัวของเขา เช่น เล่นเป็นคุณครูที่โรงเรียน หรือเล่นเป็นพ่อแม่ เล่นเป็นหมอ หรือพยาบาล ฯลฯ ในบางครั้งอาจเป็นเค้าโครงเรื่อง จากหนังสือนิทานที่อ่าน หรือจากละครโทรทัศน์ ที่ดูอยู่ทุกวัน

    3. Roles คือ บทบาทที่เล่นเลียนแบบของจริง  เช่น เล่นเป็นตำรวจ วิ่งไล่จับผู้ร้าย เล่นเป็นหมอ ฯลฯ หรือ จากจินตนาการ เช่น เล่นเป็นอุลตราแมน หรือ เป็น ซินเดอเรลลา เป็นต้น


    พลังแห่งจินตนาการ 

    พอเริ่มเข้าวัยเตรียมอนุบาล เด็กเริ่มพ้นออกจากอกพ่อแม่ เช่นไปเล่นกับเด็กอื่นข้างบ้าน ไปโรงเรียน ไปสนามเด็กเล่น ฯลฯ ซึ่งทำให้อาจไปเจอกับสิ่งที่ไม่คาดคิด เช่น ถูกเพื่อนแกล้ง ถูกครูดุ ไม่มีคนเข้าใจ ฯลฯ ซึ่งเด็กเองไม่เข้าใจ และไม่รู้ว่าจะจัดการกับมันอย่างไร และไม่มีคุณพ่อ คุณแม่อยู่แถวนั้นคอยช่วยเหลือ ดังนั้น เด็กจึงมีกลไกในตัวเอง ที่จะช่วยแก้ไขปัญหา หรือความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับตนเอง โดยการสร้างจินตนาการ และการเล่นสมมุติ  เช่น สมมุติว่าตนเองใหญ่โต และมีอำนาจ เป็น ตำรวจ เป็นซุปเปอร์แมน ที่จะจัดการกับสิ่งที่ตนเองไม่ชอบได้ ทำให้ตนเองรู้สึกว่าปลอดภัยขึ้น ส่วนใหญ่พระเอกในใจของเด็ก ที่เด็กรู้สึกว่าเก่ง และมีอำนาจ อาจไม่ใช่ อุลตราแมน หรือซุปเปอร์แมน เสมอไป


     ส่วนใหญ่พระเอก( หรือนางเอก) ในใจของเด็ก คือ คุณพ่อคุณแม่ของเด็กเอง เด็กได้เห็นคุณพ่อคุณแม่ ทำสิ่งต่างๆได้หลายอย่าง ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเด็กอยากทำได้ อย่างนั้นบ้าง เด็กๆ จึงชอบที่จะเล่นสมมุติ เป็นตัวคุณพ่อ หรือ คุณแม่ เช่น เล่นเป็นคุณพ่อไปทำงาน หรือ คุณแม่ทำกับข้าว ฯลฯ

     บางครั้ง การเล่นสมมุติ ทำให้เด็กได้คลายความเครียด เช่น เด็กที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาลเนื่องจากต้องทำผ่าตัด อาจจะเล่นสมมุติว่าตนเองเป็นหมอ ทำการผ่าตัดตุ๊กตา หรือ เด็กที่เพิ่งมีน้องใหม่เข้ามาในบ้าน หลังจากคุณแม่ไปคลอดน้องที่โรงพยาบาล และทุกคนให้ความสนใจ เห่อน้องใหม่กัน เด็กเองเกิดความสับสนในบทบาทของตนเอง อาจมีความรู้สึกอิจฉาน้องบ้าง ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็ก ในการปรับตัวเมื่อมีน้องใหม่ ก็อาจจะเล่นโดยเอาตุ๊กตามาสมมุติว่า เป็นน้องเล็ก แล้วมาโยนเหวี่ยงทิ้ง ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็น และเข้าใจเด็ก ก็จะสามารถช่วยให้เด็กได้ปรับตัวเข้ากับการมีน้องใหม่ได้ โดยการให้เวลากับเขามากขึ้น และอาจจะใช้ตุ๊กตาตัวเดียวกันนั้น เป็นสื่อในการแสดงความรักน้อง เช่นให้เขาอุ้มป้อนนม, เปลี่ยนผ้าอ้อม ฯลฯ แทนที่จะดุว่าเด็ก ว่าทำไมเอาตุ๊กตามาโยนลงกับพื้น เป็นต้น


     การเล่นสมมุติตามจินตนาการของเด็ก ทำให้เด็กได้รู้สึกว่า 

  • 1. ตนเองมีความเข้มแข็ง และมีความมั่นใจมากขึ้น (stronger and more confident)และจะช่วยลดความเครียด หรือความกลัวที่ตนเองมีอยู่
  • 2. Happiness คือมีความสุขกว่า, active กว่า, มีความก้าวร้าวน้อยกว่า
  • 3. Self-entertainment เช่น ขณะกำลังรอคอยคุณแม่แต่งตัว เขาได้เล่นสมมุติตามจินตนาการจนเพลิน ทำให้ไม่หงุดหงิดมาก
  • 4. Roots of sensitivity การเล่นบทบาทที่สมมุติเป็นคนอื่นๆ ทำให้มีความเข้าใจในบทบาทของแต่ละคน ทำให้เข้าใจ และเห็นใจคนอื่นๆมากขึ้น
  • 5. Creativity ทำให้เด็กได้ลองคิดในมุมกว้างที่หลากหลาย เช่น เล่นเป็นคนดี คนไม่ดี คนจน ขอทาน ฯลฯ ทำให้เด็กเริ่มมีทัศนะคติ ต่อโลกรอบตัวเขาในแง่มุมที่กว้างขึ้น
     
     นอกจากนี้ ยังมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาการทางด้านทักษะอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น พบว่าเด็กที่ได้มีโอกาสเล่น ตามจินตนาการของตนเองบ่อยๆ จะมีทักษะในการคิด (Thinking skills) ดีกว่า, มีสมาธินานกว่า และมีไอเดียใหม่มากกว่าเด็กที่อยู่เฉยๆ ดูแต่ทีวี ฯลฯ อาจจะเป็นเพราะว่าเด็กที่ชอบเล่นตามจินตนาการ มักจะเป็นเด็กที่มีแววฉลาดกว่าเด็กทั่วไป โดยตัวของตัวเองอยู่แล้ว หรือ อาจจะเป็นว่าการเล่นตามจินตนาการของเด็กได้เปิดโอกาสให้เด็กได้คิดสำรวจและมองในมุมมองอื่นที่กว้างขึ้น มีความยืดหยุ่นขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับตัวเด็กเองเมื่อโตขึ้น 
     
     ดังนั้นในแง่ของการพัฒนาการของเด็กวัยเตรียมอนุบาลแล้ว การให้เด็กได้มีโอกาสเล่นสมมุติตามจินตนาการของตนเองนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นประโยชน์กับเด็กเองเป็นอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่จึงควรเข้าใจ และเปิดโอกาสให้เขาได้เล่น ตามจินตนาการของเขาบ้าง

     เด็กหญิงกับเด็กชาย จะมีการเล่นสมมุติ แตกต่างกันไหม?

     คำตอบ :
 การเล่นของเด็กหญิงกับเด็กชาย จะมีความแตกต่างกันบ้าง กล่าวคือ 

  • ในเด็กหญิง แทบทุกคนจะเล่นเป็นแม่ ซึ่งจะช่วยให้เขา สามารถแยกแยะบทบาทของการเป็นเพศแม่ (sexual identity) ได้ชัดเจนขึ้น ประมาณ 1 ใน 3 จะชอบเล่นเป็น เจ้าหญิง คุณครู นางฟ้า แต่ก็จะมีประมาณ 1 ใน 4 ที่ชอบเล่นแบบผจญภัยโลดโผนบ้าง เช่น เป็นซุปเปอร์แมน สไปเดอร์แมน อุลตราแมน หรือ เป็นตำรวจ บ้าง

  • ในเด็กชาย มักจะเล่นเป็นฮีโร่ ที่มีความแข็งแกร่ง เช่น ซุปเปอร์แมน อุลตราแมน ฯลฯ ประมาณ 40% จะเล่นเป็นพ่อ แต่มักจะไม่ได้มีการแสดงบทบาทอะไรมาก นอกจากเดินไปเดินมา แต่โดยทั่วไปแล้ว การเล่นนี้มักจะเกี่ยวกับภัยคุกคาม หรือสิ่งที่อาจจะเป็นอันตราย เช่น มีสัตว์ประหลาดมา กำลังจะมาจับเด็กๆไปกิน พวกเราต้องออกไปต่อสู้ ทำร้ายเจ้าสัตว์ประหลาด เตะมันให้กระเด็น ยอมแพ้ไปเลย และเขาก็สามารถปกป้องคนอื่นๆจากสัตว์ประหลาดได้ ซึ่งการที่เด็กชายได้เล่นเป็นฮีโร่ มีความเข้มแข็ง และแข็งแรง ทำให้เด็กเรียนรู้บทบาท ของการเป็นเพศชายได้ชัดเจนดีขึ้น
        
     พบว่าทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย จะชอบเล่น บล็อคตัวต่อ หรือ เลโก้ ทำเป็นบ้าน สะพาน ขับรถ ฯลน เหมือนๆกัน และในบางครั้งจะพบว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กหญิงหรือชาย
 จะมีการเล่นสมมุติที่เปลี่ยนบทบาทไปจากเพศของตน (cross roles) เช่นเด็กหญิงแต่งตัวทำท่าทางเป็นพ่อ หรือ เด็กชายแต่งตัวทำท่าทางเป็นแม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ โดยไม่ได้หมายความว่าเด็กในวัยนี้ จะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากเพศของตน เพราะเป็นการสมมุติดู ตามจินตนาการของตนในบทบาทของคนอื่น (try out different adult role)

      นอกจากการเล่นสมมุติ โดยใช้ตนเองเป็นหลักแล้ว ยังพบว่า เด็กในวัยนี้ มักจะมี  “เพื่อนล่องหน” หรือ เพื่อนในจินตนาการ (Imaginary friends) ของเขาอยู่กับเขาด้วย เพื่อเป็นเพื่อนที่อยู่ใกล้ชิด ทำให้เขารู้สึกว่าไม่ได้อยู่คนเดียว (companionship) เพื่อให้เด็กได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ แต่ทำไม่ได้ หรือ เป็น “แพะ scapegoat” ไว้ให้เขาได้โทษความผิดให้ เช่น เด็กอาจจะเอาตุ๊กตาตัวโปรดของเขา มายื่นให้คุณแม่ แล้วบอกว่า “คุณแม่ครับ เจ้าแพ็ทนี่ละครับ ที่ทำแจกันของคุณแม่ตกแตก คุณแม่ตีเจ้าแพ็ทได้เลยครับ” ฯลฯ หรือ บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะแปลกใจ ที่ลูกสามารถอยู่เล่นคนเดียวในห้องได้ เพราะเขาเองมีเพื่อนเล่นด้วยกับเขา นั่นคือ เพื่อนในจินตนาการนั่นเอง ซึ่งพอเด็กอายุมากขึ้นกว่านี้ และมีวุฒิภาวะมากขึ้น เพื่อนในจินตนาการของเขา ก็จะหายไปเอง คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะเข้าใจ และให้การต้อนรับเพื่อนในจินตนาการของเขาด้วย โดยไม่ต้องกังวล ว่าลูกจะมีอะไรผิดปกติไปหรือเปล่า

     คุณพ่อคุณแม่ ควรจะสนับสนุนให้ลูกได้มีโอกาสเล่นสมมุติ ตามจินตนาการ ของเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กทุกคน จะมีความสามารถที่จะเล่นอย่างนี้อยู่แล้ว แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ว่า จะสนับสนุน และเข้าใจลูกหรือไม่

      คุณสามารถช่วยลูกได้โดยช่วยในการจัดหาอุปกรณ์ในการเล่น และสนับสนุนให้เด็กได้ฝึกใช้จินตนาการของเขามากยิ่งขึ้น ซึ่งคุณทำได้โดย

  • 1. อ่านหนังสือกับลูกให้ลูกฟัง อาจเป็นหนังสือนิทาน เทพนิยาย หนังสือเกี่ยวกับจินตนาการ เช่น นิทานพื้นบ้านของไทย, นิทานอีสป, นิทานของวอลท์ดิสนีย์, แฮร์รี่พอตเตอร์ ฯลฯ และ เล่นบทสมมุติของตัวละครบางอย่างในเรื่องกับลูก
  • 2. แต่งเรื่องนิทานเล่าให้ลูกฟังเอง หรือ เล่าเรื่องสมมุติขึ้นเอง ให้ลูกฟังก่อนนอน และ ลองให้ลูกหัดแต่ง หัดเล่าเรื่องสมมุติของเขาเองบ้าง (ผลัดกันเล่า)
  • 3. เสนอฉาก หรือไอเดีย ในการเล่นสมมุติให้ลูก เพราะประสบการณ์ของลูกยังมีน้อย ถ้าคุณพ่อคุณแม่ลองออกความเห็นบ้าง จะทำให้เล่นได้สนุกขึ้น เช่น สมมุติเป็นคนขับเรือดำน้า มุดลงไปใต้โต๊ะ (=ลงไปในทะเลลึก) จะเจออะไรบ้างเอ่ย เจอฉลาม ก็ลองให้ลูกทำท่าฉลามจะกัดคน เจอปลาหมึกยักษ์ เอาหนวดปลาหมึกมาจับคนมากิน ฯลฯ
  • 4. แนะนำให้ลองใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ มาทำสร้างจินตนาการ เช่น เอาก้านกล้วยมาทำเป็นม้า ขี่ม้าเลียบค่าย หรือ เอาไม้กวาด (ใหม่และสะอาด) มาทำเป็นไม้กวาดบิน ของงานฮาโลวีน หรือ ตามใน แฮร์รี่พอตเตอร์ หรือ เอาบล็อคเลโก้มาต่อ เป็นเครื่องบิน เรือ ฯล
     
       ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกในวัยเตรียมอนุบาลของคุณ ให้ได้มีโอกาสเล่นตามจินตนาการของตนเองเช่นนี้ ก็จะมีความหมายต่อลูก มากกว่าการพยายามหาซื้อของเล่นพิเศษๆ ที่มีราคาแพง แต่เด็กเล่นเดี๋ยวเดียวก็เบื่อ และไม่ได้เสริมจินตนาการของเขาเท่าไรนัก 
ขอขอบคุณภาพประกอบและบทความ : clinicdek

Week 1-3 : สัปดาห์ที่ 1-3 ของการตั้งครรภ์
เซลล์ไข่เริ่มกลายเป็นตัวอ่อนและเจ...
2013-04-05

10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน
10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน (จากปากเรา)...
2013-06-10

การอาบน้ำเด็กทารกอย่างถูกวิธี
วันนี้เราเลยมีวิธีที่จะทำให้เด็กส...
2013-05-21

พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และของเล่นที่เหมาะสม
พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และข...
2013-07-02

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจขณะตั้งครรภ์
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ...
2013-04-25

Week 5 : สัปดาห์ที่ 5 ของการตั้งครรภ์
สัปดาห์นี้ ควรฝากครรภ์ได้แล้วนะ...
2013-03-29

9 วิธีเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์
คุณแม่ที่กำลังอยากจะมาบุตรต้องทำอ...
2013-06-28

การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ควรมองข้าม
การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่...
2013-04-05

น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง
น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง...
2013-04-29

Week 13 : สัปดาห์ที่ 13 ของการตั้งครรภ์
เต้านมของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น, ...
2013-03-29