ภาษาไทย
English

เจ้าหนูยิ้มสู้ป่วยทุกฤดู

 

ช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนฤดู บางครั้งผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็ปรับตัวไม่ทัน ถึงขั้นป่วยกันแบบไม่คาดคิดก็บ่อยไป ยิ่งในปัจจุบันที่สภาพอากาศปรวนแปร คุณพ่อคุณแม่ก็อาจเกิดอาการร้อนๆ หนาวๆ กลัวเจ้าตัวน้อยจะปรับตัวไม่ทันพาลป่วยไข้ไม่สบายไป แล้วจะต้องระวังโรคอะไร รับมืออย่างไรในแต่ละฤดู มีคำตอบมาฝากค่ะ

ฤดูเปลี่ยนโรคต่าง

ความแตกต่างของสภาพอากาศในแต่ละฤดู ทั้งร้อน เย็น หรือชื้น ทำให้โรคที่พบมีความแตกต่างกันไปด้วย ความจริงแล้วทุกโรคสามารถพบได้ทุกฤดูนะคะ แต่บางโรคจะพบได้บ่อยในบางฤดู คือ

     ฤดูร้อน ส่วนใหญ่จะพบโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เพราะเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิสูงๆ โรคที่พบได้บ่อย คือ

     โรคท้องเสีย เกิดจากการกินอาหารที่ไม่สะอาด หรืออาหารที่ปรุงทิ้งไว้นาน หากลูกท้องเสียจะมีอาการปวดท้อง มีไข้ อาเจียน ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีมูกเลือดปนออกมาขณะถ่าย และที่ต้องระวังคือภาวะขาดน้ำ ดังนั้น หากลูกท้องเสียควรให้ดื่มน้ำเกลือแร่ และพาไปหาคุณหมอเพื่อตรวจดูอาการ เพราะอาจต้องให้น้ำเกลือค่ะ

     ผดผื่นคัน พบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน อากาศร้อนทำให้เหงื่อออกมาก ลูกจึงรู้สึกคัน และถ้าเขาเกามากก็อาจจะเป็นแผลพุพองตามมาค่ะ การป้องกันคือเลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี เมื่อลูกมีผดผื่นคันควรอาบน้ำให้ลูกบ่อยขึ้น ใช้คาลาไมน์ทาบรรเทาอาการ แต่หากลูกคันมากโดยเฉพาะในเด็กอ้วน ควรพาไปหาคุณหมอเพื่อตรวจดูว่าเกิดจากเชื้อราหรือไม่ เพราะต้องรักษาโดยการใช้ยาค่ะ

     หน้ามืดเป็นลม บ้านไหนที่ลูกอยู่ในวัยซุกซนหรือชอบเล่นกลางแจ้งต้องระวังค่ะ เพราะการตากแดดนานๆ ดื่มน้ำไม่เพียงพอ ก็อาจจะมีอาการหน้ามืดเป็นลมได้ เพราะร่างกายขาดน้ำ วิธีป้องกัน คือ ให้ลูกดื่มน้ำมากๆ ค่ะ

     ฤดูฝน ส่วนใหญ่โรคที่เกิดในฤดูนี้จะเป็นโรคที่สัมพันธ์กับแหล่งน้ำ เพราะมักมีน้ำขังและมียุงเกิดมากขึ้น ตลอดจนมีไวรัสบางประเภทที่มักจะระบาดมากในช่วงหน้าฝน โรคที่พบได้บ่อย คือ

     โรคหวัด ทั้งหวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส เมื่อลูกเป็นหวัดจะมีอาการไอ มีน้ำมูก อาจมีไข้ หายใจครืดคราด บางคนอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น เป็นหูน้ำหนวกด้วย หากลูกเป็นไข้หวัดหลังจากรักษาตามอาการประมาณ 3-7 วัน ส่วนใหญ่อาการไข้จะค่อยๆ ทุเลาลงค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกดื่มน้ำมากๆ ในช่วงที่เป็นหวัด เพราะน้ำจะช่วยละลายเสมหะ ละลายน้ำมูกออกมาได้ดีค่ะ

     ระวัง! หวัดลงปอด
     หากลูกมีอาการเป็นหวัด และไม่หายภายใน 3-7 วัน คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการของลูกนะคะ หากลูกไอมากจนนอนไม่ได้ หายใจไม่ปกติ หอบ มีไข้ มีอาการจมูกบานหน้าอกบุบ ซึม ต้องพาไปหาคุณหมอค่ะ

     แผลจากยุงกัด เด็กบางคนมีอาการแพ้ยุง เมื่อถูกยุงกัดจะเป็นผื่น บวม มีอาการคันมากผิดปกติ เมื่อเด็กเกามากๆ ก็จะกลายเป็นแผลถลอก ซึ่งหากมือสกปรกเชื้อโรคก็จะผ่านเข้าไปยังแผลนั่นเองค่ะ

ิ     หากลูกถูกยุงกัด และยังไม่ได้เกาจนเป็นแผลถลอก อาจใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ป้าย เพื่อลดอาการคัน แต่หากลูกเกาจนเกิดเป็นแผลติดเชื้อ ควรล้างแผลให้สะอาดโดยใช้สบู่อ่อนๆ และพาไปหาคุณหมอเพื่อรับยาฆ่าเชื้อค่ะ

นอกจากนั้น ในช่วงฤดูฝนควรระวังสัตว์มีพิษต่างๆ ที่อาจหนีน้ำหรือเกิดมากขึ้น และอาจมากัดหรือต่อยลูกได้ค่ะ

     ฤดูหนาว ส่วนใหญ่โรคที่พบจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจค่ะ ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ เช่นเดียวกับในช่วงฤดูฝน และมีโรคอื่นๆ ที่พบได้บ่อย คือ

     ไข้ออกผื่นจากเชื้อไวรัส เช่น อีสุกอีใส ซึ่งสามารถเกิดได้ทุกฤดู แต่จะเกิดในช่วงฤดูหนาวได้มากที่สุด หรืออาจเป็นหัด หัดเยอรมัน ซึ่งหากพาลูกไปรับวัคซีนแล้วก็จะไม่เป็นค่ะ

     ไวรัสลงกระเพาะ หรือติดเชื้อไวรัสในทางเดินอาหาร จะมีอาการท้องเสีย บางคนก็อาเจียน ถ่ายไม่เหลว โรคนี้สามารถพบได้ทุกฤดูเช่นกันค่ะ แต่จะพบได้บ่อยในช่วงฤดูหนาวและฤดูฝน เพราะอากาศเย็นและชื้น ทำให้ไวรัสเจริญเติบโตได้ดี หากลูกติดเชื้อไวรัสลงกระเพาะควรพาไปพบคุณหมอค่ะ

How to สู้ป่วย

     คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ป่วยง่าย ไม่ว่าจะเป็นฤดูใดก็ตาม ด้วยวิธีง่ายๆ คือ

ลูกเล็ก

     * ให้ลูกกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เพราะเป็นการเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ลูกค่ะ

     * พาลูกไปฉีดวัคซีนตามตาราง อาจเลือกฉีดวัคซีนทางเลือกตามความเหมาะสมและการตัดสินใจของคุณพ่อคุณแม่แต่ละท่าน

     * หลีกเลี่ยงการพาลูกไปยังสถานที่ที่มีความแออัดมากๆ เพราะทำให้ลูกมีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆ ได้มาก

     * เตรียมอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ๆ ให้ลูก

ลูกวัยเรียน

     * สอนให้ลูกล้างมือบ่อยๆ ไม่ว่าจะฤดูไหนก็ตาม เพราะมือเป็นตัวนำเชื้อ เพียงแค่เขาไปเล่นของเล่น ไปจับของ จับมือเพื่อน ซึ่งอาจมีเชื้อโรคอยู่ก็จะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย

     * หากลูกมีอาการไอ จาม ควรสอนให้ลูกปิดปาก รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้คนป่วย เพราะอาจมีอาการไอ จาม ทำให้ลูกติดเชื้อโรคได้

     * หากกลับจากข้างนอกซึ่งอากาศร้อน เข้ามาในบ้านเจอห้องแอร์เย็นๆ อาจต้องหาเสื้อใส่ให้ลูกเพื่อเพิ่มความอบอุ่น โดยเฉพาะบริเวณลำคอค่ะ

     ด้วยวิธีที่ไม่ซับซ้อนแต่ได้ผลอย่างการรักษาสุขอนามัยอยู่เสมอ บวกกับความรักและความเอาใจใส่ของคุณพ่อคุณแม่ ที่มีให้เจ้าตัวเล็กทุกวันไม่ว่าจะฤดูไหน ก็ทำให้เขาเติบโตแข็งแรงปราศจากโรคแล้วล่ะค่ะ


โดย: กุมภการ

จากนิตยสาร รักลูก

ขอขอบคุณภาพประกอบและบทความ : จากนิตยสาร รักลูก

Week 1-3 : สัปดาห์ที่ 1-3 ของการตั้งครรภ์
เซลล์ไข่เริ่มกลายเป็นตัวอ่อนและเจ...
2013-04-05

10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน
10 คำชมที่ลูกควรได้ยิน (จากปากเรา)...
2013-06-10

การอาบน้ำเด็กทารกอย่างถูกวิธี
วันนี้เราเลยมีวิธีที่จะทำให้เด็กส...
2013-05-21

พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และของเล่นที่เหมาะสม
พัฒนาการของลูกน้อยช่วงวัย 4-6ปี และข...
2013-07-02

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจขณะตั้งครรภ์
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ...
2013-04-25

Week 5 : สัปดาห์ที่ 5 ของการตั้งครรภ์
สัปดาห์นี้ ควรฝากครรภ์ได้แล้วนะ...
2013-03-29

9 วิธีเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์
คุณแม่ที่กำลังอยากจะมาบุตรต้องทำอ...
2013-06-28

การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ควรมองข้าม
การเลือกเพลงสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่...
2013-04-05

น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง
น้ำอสุจิ..ของเหลวสีขาวขุ่นชวนพิศวง...
2013-04-29

Week 13 : สัปดาห์ที่ 13 ของการตั้งครรภ์
เต้านมของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น, ...
2013-03-29